วช. ร่วม สอศ. มอบรางวัลติดดาว 18 ผลงานเด่น นักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา เสริมศักยภาพสร้างแรงจูงใจ ในกิจกรรมบ่มเพาะพื้นที่ภาคใต้

0
312

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานและกล่าวแสดงความยินดีในการมอบรางวัลกิจกรรมติดดาวและเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมการบ่มเพาะ ณ โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ประจำปี 2567 ได้รับการตอบรับจาก นิสิต นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาในการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก กิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะและเทคนิคในด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรม ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนางานประดิษฐ์ที่ได้มาตรฐานตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

สำหรับรางวัลติดดาว ผลงานการนำเสนอได้อย่างโดดเด่นจำนวน 18 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่

กลุ่มที่ 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

  • อาหารผงลูกปลาตะกรับเสริมกราซิลาเรีย
    จาก วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ (รางวัลระดับ 5 ดาว)
  • แผงฟักไข่ปลานิลระบบพลังงานโซล่าเซลล์ควบคุมโดยระบบ IoT
    จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช (รางวัลระดับ 4 ดาว)
  • ปุ๋ยมูลนกนางแอ่นผสมเปลือกปูม้าบด
    จาก วิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (รางวัลระดับ 3 ดาว)
  • ผลิตภัณฑ์สารเคลือบผักผลไม้ไคโตซานเกล็ดปลากะพงขาวเสริมยูจีนอลจากใบกะเพรา
    จาก วิทยาลัยการอาชีพเกาะสมุย (รางวัลระดับ 3 ดาว)

กลุ่มที่ 2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

  • เบบี้จังเกิ้ล
    จาก วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช (รางวัลระดับ 4 ดาว)
  • ผลิตภัณฑ์แผ่นแว็กซ์กำจัดขนจากน้ำผึ้งชันโรงเสริมสารเหนียวด้วยไมโครคริสตัลไลน
    จาก วิทยาลัยเทคนิคสตูล (รางวัลระดับ 3 ดาว)
  • รีเฟรซบ๊อก ทูอินวัน
    จาก วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช (รางวัลระดับ 3 ดาว)

กลุ่มที่ 3) การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ

  • เครื่องคัดแยกมังคุดเพื่อการส่งออกด้วยระบบ AI
    จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี (รางวัลระดับ 5 ดาว)
  • ชุดอุปกรณ์เตือนความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักรยาน
    จาก วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง (รางวัลระดับ 4 ดาว)
  • อุปกรณ์เก็บน้ำผึ้งชันโรงและตรวจค่าความชื้นแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันไลน์
    จาก วิทยาลัยเทคนิคสตูล (รางวัลระดับ 3 ดาว)
  • ชุดเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นอัจฉริยะ
    จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต (รางวัลระดับ 3 ดาว)

กลุ่มที่ 4) พลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model

  • เครื่องผลิตคราฟเบียร์จากข้าวสังข์หยดอินทรีย์ระบบน้ำหมุนเวียนกึ่งอัตโนมัติ
    จาก วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง (รางวัลระดับ 4 ดาว)
  • ตู้นึ่งทำขนมชั้นระบบเติมแป้งกึ่งอัตโนมัติสำหรับวิสาหกิจชุมชน
    จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี (รางวัลระดับ 4 ดาว)
  • เครื่องชักลากวัชพืชและผักตบชวาพร้อมอุปกรณ์ดีดหัวเกี่ยวแบบติดตั้งกับรถจักรยานยนต์
    จาก วิทยาลัยเทคนิคสงขลา (รางวัลระดับ 3 ดาว)

กลุ่มที่ 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

  • ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกจากสีใบสักทองสู่ลวดลายอัตลักษณ์ “อุทยานธรณีโลก” สตูล
    จากวิทยาลัยเทคนิคสตูล (รางวัลระดับ 5 ดาว)
  • ขนมจีนอบแห้งเสริมโปรตีนจากไข่ผำ
    จาก วิทยาลัยการอาชีพเกาะสมุย (รางวัลระดับ 4 ดาว)
  • แชมพูสมุนไพรด็อกเลิฟ
    จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีสุราษฎร์พาณิชยการ (รางวัลระดับ 3 ดาว)
  • ผลิตภัณฑ์เคลือบและบำรุงผิวไม้จากสารสกัดปาล์มน้ำมัน
    จาก วิทยาลัยเทคนิคตรัง (รางวัลระดับ 3 ดาว)

ทั้งนี้ กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้วางเป้าหมายให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญ ที่จะพัฒนาสมรรถนะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมของคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้สามารถพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์และความต้องการของประเทศ