วช. ร่วมเสวนาในประเด็นหลักแห่งปี “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุมใหญ่ Global Research Council (GRC) 2024

0
143

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิกฟิก นำคณะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ Global Research Council (GRC) 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 27 – 30 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอินเทอร์ลาเคน สมาพันธรัฐสวิส โดยมี Swiss National Science Foundation (SNSF) สมาพันธรัฐสวิส เป็นเจ้าภาพหลัก และ Fonds pour la Science, la Technologie et l’Innovation(FONSTI) สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Côte d’Ivoire) เป็นเจ้าภาพร่วม ภายใต้หัวข้อ “การวิจัยที่ยั่งยืน (Sustainable Research)” โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยจาก 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย เอเชีย-แปซิฟิก, ยุโรป,อเมริกา, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, และแอฟริกาใต้สะฮารา จำนวน 61 ประเทศ จำนวนมากกว่า 300 คน เข้าร่วมการประชุมฯ


 
การประชุมหลักของ GRC 2024 จัดขึ้นในวันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2567 ณ Congress Kursaal Interlaken และพิธีเปิดในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ได้รับเกียรติจาก Prof. Alejandro Adem ประธานของ Natural Sciences and Engineering Research Council (NSERC) ประเทศแคนาดา และ ประธาน GRC Governing Board กล่าวเปิดการประชุมฯ และเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งได้แก่ Prof. Egger Matthias ประธานของ SNSF และ Dr. Yaya Sangaré เลขานุการบริหารของ FONSTI เป็นผู้กล่าวต้อนรับ โดยมีการกล่าวถึงประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเด็นวิจัยสำคัญของแต่ละภูมิภาค ซึ่ง GRC ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่หน่วยงานให้ทุนทั่วโลกจะมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและกลไกท้าทายที่สำคัญ

สำหรับการประชุมหลัก ในที่ 29 พฤษภาคม 2567 ประกอบด้วย 3 หัวข้อ คือ
1) Sustainable Research – What are We Talking about
2) Research for Sustainable Development และ
3) Making Research More Sustainable

โดยในหัวข้อ Research for Sustainable Development ได้จัดให้มี Panelist การเสวนาจากผู้บริหารหน่วยงานสนับสนุนทุนการวิจัยจากทั้ง 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย

  • ภูมิภาคยุโรป: Prof. Ottoline Leyser – President of UKRI, UK
  • ภูมิภาคอเมริกา: Prof. Marco Antonio Zag – President of the São Paulo Research Foundation (FAPESP), Brazil
  • ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก: ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
  • ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา: Dr. Fulufhelo Nelwamondo – CEO of the National Research Foundation(NRF), South Africa
  • ภูมิภาคตะวันออกกลางและ
    แอฟริกาเหนือ: Dr. Saif Al-Hiddabi – Undersecretary for Research and Innovation, Ministry of Higher Education, Research and Innovation, Oman

โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้อภิปรายในหัวข้อ “โครงการริเริ่มสำคัญของภูมิภาคในการสนับสนุนการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยได้นำเสนอ “กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง”เพื่อมุ่งให้มีการ “สร้างชุมชนที่มีภาพอนาคตแห่งสันติภาพและความเจริญร่วมกัน” ปัจจุบันมีสมาชิกประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ซึ่งทุกประเทศมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม
 นอกจากนี้ ดร. วิภารัตน์ฯ ยังได้นำเสนอมุมมองของผู้บริหารหน่วยงานในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศไทย ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะ การถ่ายทอดความรู้ วิธีและแนวทางในการรับมือกับความท้าทาย รวมถึงการประเมินการสนับสนุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
สำหรับ Global Research Council (GRC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยการรวมตัวกันของหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) และเปิดโอกาสให้ประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็กทำงานร่วมกันอย่างไร้พรมแดน ซึ่ง วช. เป็นหน่วยงานของประเทศไทยที่เข้าร่วม GRC ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดย GRC มีคณะกรรมการบริหาร (Governing Board) มาจากผู้บริหารของหน่วยงานสมาชิกทั้ง 5 ภูมิภาค โดยการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมของ GRC ตลอดจนให้ความเห็นในประเด็นสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุนประเทศต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลก ทั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ฯ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 – พฤษภาคม 2567