วช. ร่วมกับ TEI จัดอบรม “หลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ยกระดับงานวิจัย สู่สังคมเมืองสีเขียว

0
1046

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดอบรมระยะสั้น “หลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ภายใต้โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมให้แก่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตร
เพื่อการถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรมแก่นักวิจัย นักวิชาการในทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินงานร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยจัดอบรมหลักสูตรทั้งหมด 6 หลักสูตร จัดอบรมไปแล้ว 5 หลักสูตร คือ 1) “การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” 2) “การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม” 3) “การวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” 4) “การวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ” และ5) “การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ” ในวันนี้เป็นการอบรมหลักสูตรที่ 6 (EP6) หลักสูตร “การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ระหว่างวันที่ 15 – 17 สิงหาคม 2565 เป็นหลักสูตรที่เน้นการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อการกำหนดโจทย์งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และการประเมินผลงานวิจัย ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายที่เป็นรูปธรรม มุ่งหวังให้นักวิจัยเข้าใจการนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ไปวิเคราะห์สาเหตุ กำหนดแนวทางในการทำวิจัย
ด้านสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหา ประยุกต์ใช้เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ในการวิจัยเชิงบูรณาการและสามารถต่อยอดงานวิจัยใหม่ ๆ จากผลงานวิจัยเดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกรอบการประเมินผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม และการวิจัยเพื่อตอบโจทย์เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมถึงการประเมินความเสียหายต่อทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อความต้องการและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

ทั้งนี้ การอบรมมีทั้งหมด 6 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) หลักสูตรการวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม 3) หลักสูตรการวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4) หลักสูตรการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 5) หลักสูตรการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และ 6) หลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจัดผ่านระบบ zoom meeting ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2565 จัดอบรมหลักสูตรละ 3 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรและนักวิชาการชั้นนำเกี่ยวกับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมในระดับต่าง ๆ เกิดการสร้างเครือข่ายนักวิจัยงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ได้รับการยอมรับในระดับเชิงพื้นที่สู่ระดับสากลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป