วช. ร่วมกับ ส.กีฬาเครื่องบินจำลองฯ เปิดเวทีให้เยาวชนไทยโชว์ฝีมือในการแข่งขันออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร ชิงถ้วยพระราชทานฯ

0
307

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) จัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการแข่งขัน พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมในพิธี โดยมี นายณรงค์ อภิชัย ประธานสายปฏิบัติการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสลิลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย นายบุญโรจน์ กองแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตําบลท่าตอน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองให้การต้อนรับ ณ โครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวด้านโดรน และนวัตกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร ที่สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ กล่าวได้ว่า “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย เป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษรชิงถ้วยพระราชทานฯ ขึ้น

ด้าน นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ตามที่สมาคมกีฬาเครื่องบินจําลองและวิทยุบังคับ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการจัดทําโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ“โดรน” ให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ นั้น จึงได้มีการจัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะในเชิงปฏิบัติการให้แก่เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการจัดแสดงโดรนแปรอักษรให้มากขึ้น

สำหรับการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเวทีให้เยาวชนที่ผ่านการอบรมได้แสดงศักยภาพของตนเอง และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความองค์ความรู้การใช้ software ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับอากาศยานโดรนต่อไป ซึ่งกำหนดจัดกิจกรรมการแข่งขัน 2 ครั้ง คือ 1) รอบคัดเลือก ในวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยการส่งผลงานเข้ามาประกวดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อคัดเลือกให้เหลือผู้ผ่านเข้ารอบการแข่งขันสนามชิงชนะเลิศ จำนวน 50 ทีม และ 2) รอบตัดสินชิงชนะเลิศ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2566 โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 รอบ คือ รอบคัดเลือก รอบ 24 ทีมสุดท้าย และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งมีทีมเข้ารอบทั้งหมด 12 ทีม

ในคืนวันที่ 17 ธันวาคม 2566 บรรยากาศภายในงานเนืองแน่นไปด้วย ข้าราชการจากส่วนต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ มาร่วมชมและร่วมเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ นอกจากนี้มีการแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตนเอง อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม การแสดงรวมใจไทยสี่ภาค การแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์อีซอและกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า

สำหรับ ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ภายใต้ หัวข้อ “ soft power ของประเทศไทย“ ในครั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Oasis KC จากโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม ลูกเจ้าพ่อไทรเงิน 2 จาก โรงเรียนพิบูลมังสาหาร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมฝูงบินต่ำ RNK2 จากโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ได้แก่ ทีม DoubleIce จาก โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม รางวัลชมเชยอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ตะโกราย จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และรางวัลชมเชยอันดับ 2 ได้แก่ ทีม คำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จาก โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์

ทั้งนี้ วช. และ ส.กีฬาเครื่องบินจำลองฯ จะมีการจัดการแข่งขันประกวดออกแบบแผนการบินโดรนแปรอักษร (Drone Light Show Pattern Design) ให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพทักษะการเขียนโปรแกรมบังคับและควบคุมโดรน (Drone) ประยุกต์สู่การใช้งาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต โดยสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ