วช. ร่วมกับ จังหวัดพะเยา Thai PBS และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดการแข่งขัน “หนูน้อยเจ้าเวหา” ออกแบบบินโดรนแปรอักษร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทีมชนะเลิศ GIFTED KC จาก โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จ.ยโสธร

0
12

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS และจังหวัดพะเยา จัดงานแข่งขัน “หนูน้อยเจ้าเวหา” การออกแบบแผนบินโดรนแปรอักษร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2567 รอบชิงชนะเลิศในหัวข้อ “Welcome to Thailand” มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 8 ทีม แต่ละทีมต้องเขียนโปรแกรมในการควมคุมโดรนจำนวน 400 ลำ และแสดงการบินให้กับคณะกรรมการ ผู้ชนะเลิศได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชย ได้รับเกียรติจาก นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นผู้มอบรางวัล ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยนำเทคโนโลยีโดรน มาเสริมทักษะความรู้ด้านซอฟต์แวร์การเขียนโปรแกรมให้กับเยาวชน เพื่อให้มีพัฒนาการของการเรียนรู้ที่ทันสมัยตามเทคโนโลยีในปัจจุบัน การแข่งขันการออกแบบแผนบินโดรนแปรอักษร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2567 ทำให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนที่ได้นำการท่องเที่ยวท้องถิ่นมานำเสนอภายใต้หัวข้อที่กำหนดขึ้น ซึ่งเยาวชนได้มีพัฒนาการด้านทักษะและศักยภาพที่ดียิ่งขึ้นในทุกการแข่งขันซึ่ง วช. รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ฝูงโดรนกว่า 400 ลำขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยฝีมือเยาวชนไทย และยินดีที่จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมให้แก่เยาวชนไทยต่อไป

นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยาพร้อมส่งเสริมเยาวชนจากทั่วประเทศที่ได้มาแข่งขันฯ โดยก่อนหน้านี้จังหวัดพะเยาได้รับเกียรติจาก วช. และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้นำโดรนแปรอักษรมาจัดแสดง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ชาวจังหวัดพะเยา อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีรายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จังหวัดพะเยายังมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมอีกมากมาย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัด และกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ขอขอบคุณ วช. ที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อมาพัฒนาเยาวชนไทย ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ซึ่งการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของทางสมาคมฯ ที่มุ่งพัฒนาเยาวชนไทย ให้สามารถเทียบเท่ากับระดับสากลได้ โดยทางสมาคมฯ ได้เปิดการจัดฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนที่มีความสนใจเข้าร่วม สามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงมุ่งหวังสร้างเยาวชนให้มีอาชีพและมีรายได้

การแข่งขันออกแบบแผนบินโดรนแปรอักษร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี2567 ทีมที่ได้รับรางวัล มีดังนี้

  • รางวัลชนะเลิศได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่
    ทีม GIFTED KC จากโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับถ้วยรางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่
    ทีม ลูกเจ้าพ่อไทรเงิน 3 จากโรงเรียนพิบูลมังสาหาร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้รับถ้วยรางวัลจากจังหวัดพะเยา ได้แก่
    ทีม 1.มหาราช 2 (ภูคำ) จากโรงเรียนมหาราช 2 (ภูคำ)
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้รับถ้วยรางวัลจากสมาคมเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้แก่
    ทีม เรณูนคร 2 จากโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล

ทั้งนี้ วช.ให้ความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยนำเทคโนโลยีโดรน มาเสริมทักษะความรู้ด้านซอฟต์แวร์การเขียนโปรแกรมให้กับเยาวชน เพื่อให้มีพัฒนาการของการเรียนรู้ที่ทันสมัยตามเทคโนโลยีในปัจจุบัน