วช. ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์ “sPace” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทั่วประเทศ

0
409

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือนักวิจัยไทย ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,รองศาสตราจารย์ ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และศาสตราจารย์ นายแพทย์สุโรจน์ ศุภเวคิน รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมส่งมอบเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ให้ตัวแทนผู้พิการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร โรงพยาบาลศิริราชกรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวง อว ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้คล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติโดยหนึ่งในเป้าประสงค์ที่สำคัญคือการวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นในสังคม และเพื่อขานรับนโยบายของกระทรวง อว วช. จึงสนับสนุนนทุนวิจัยแก่โครงการ “นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace”” ของคณวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนกายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้พิการ ให้ได้รับโอกาสในการนำนวัตกรรมดังกล่าวที่มีความปลอดภัย และได้รับมาตรฐานไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้บุคคลดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเอง ได้อย่างมีคุณค่าสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งในภาคระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการได้ยกระดับขึ้น นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุโรจน์ ศุภเวคิน รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผมมีความฝันว่า นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” อาจจะไม่ใช่แค่เดิน ไม่ใช่แค่วิ่ง แต่วันนึงอาจจะมีนักกีฬาพาราลิมปิคที่ใส่นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” รับรางวัลเหรียญทองในเวทีนานาชาติ การมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในวงกว้างทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ต้องการให้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ผู้พิการจำนวนมาก ถ้าเกิดได้รับนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ก็ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน การผลักดันที่จะให้เข้าไปอยู่ใน สปสช. เพื่อที่จะให้นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ใช้ได้และเบิกได้เข้าไปในระบบการเบิกจ่ายของระบบสุขภาพของประเทศก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งประเด็นนี้การค้นคว้าทางนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” เป็นเท้าเทียมคุณภาพสูง มีประสิทธิภาพเท่าสากล ในขณะที่ต้นทุนการผลิตได้ถูกปรับและพัฒนาจนมีราคาถูกลงหลายเท่า อันนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พิการมีสิทธิ์ และโอกาสเข้าถึงเท้าเทียมที่มีคุณภาพสูงได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับ วช. ได้มอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุด โดยเริ่มการส่งมอบแห่งแรก ณ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร โรงพยาบาลศิริราช นำไปมอบให้แก่ผู้ป่วยของคลินิกหน่วยกายอุปกรณ์ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร

นอกจากนี้ วช. ได้เตรียมส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ให้กับผู้พิการที่ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประเทศ ได้แก่ ตำรวจ ทหาร นักกีฬา และผู้ด้อยโอกาสมีรายได้น้อย เป้าหมายที่จำนวน 200 ราย ผ่านโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 5 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ภาคใต้ 7 จังหวัด, ภาคเหนือ 2 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 17 โรงพยาบาล โดยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส “sPace” ได้นวัตกรรมผลิตขึ้นโดยบริษัท มุทา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ขึ้นทะเบียนสถานประกอบการผลิตและจดแจ้งนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” กับ อย. เรียบร้อยแล้ว และได้รับการรับรองมาตรฐานนวัตกรรมในประเทศและระดับสากล

พร้อมกันนี้ วช.และทีมผู้พัฒนานวัตกรรมจะร่วมดำเนินการติดตามและประเมินผลการใช้งานเท้าเทียมไดนามิก “sPace”ของผู้พิการที่ได้รับนวัตกรรม ในโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพและการใช้ประโยชน์ มาประมวลวิเคราะห์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)