วันที่ 26 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เพื่อกล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การส่งเสริมและยกระดับระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับนาข้าวในพื้นที่ตำบลรางจรเข้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการ “การส่งเสริมการใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับนาข้าว ในพื้นที่ตำบลรางจรเข้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งมี ศาสตราจารย์.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมฯ และ นายพงศกร มงคลหมู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ ให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ ตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้สนับสนุนงบประมาณ ให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในการพัฒนานวัตกรรม “ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับนาข้าวในพื้นที่ตำบลรางจรเข้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยประยุกต์ร่วมกับพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเกษตรกร และสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร จากการดำเนินกิจกรรมในครั้งจะช่วยสร้างชุมชนต้นแบบในการใช้นวัตกรรมในการบริหารทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชน ทั้งในด้านการใช้นวัตกรรมเพื่อการเกษตรและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ และถ่ายทอดขยายผลองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น โดยกลไกบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาหน่วยงานภาคปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานร่วมขยายผล สนับสนุนผลผลิตการวิจัยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในการได้ดำเนินโครงการ “การส่งเสริมการใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับนาข้าว ในพื้นที่ตำบลรางจรเข้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งทางคณะอาจารย์นักวิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนจากวิสาหกิจชุมชน ตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ วช. ได้ส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยี ระบบสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมคู่มือการใช้งาน จำนวน 10 ชุด ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลรางจรเข้ โดยการส่งมอบครั้งนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการดูแลรักษาระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกรที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเพาะปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำขาดแคลน และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนในระยะยาว