จากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้นิยาม เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ว่า “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมและการสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่”
ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 : Thailand Research Expo 2023” ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ต่อยอดความรู้ความเข้าใจแก่สังคมด้วยการจัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : ชุมชนเข้มแข็งและมาตรฐานผลิตภัณฑ์” ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมเวทีเสวนาฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ จากสถาบันคลังสมองของชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน เป็นการนำองค์ความรู้ไปเพิ่มผลิตภาพให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งงานวิจัยจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การยกระดับและสร้างโอกาสที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในระดับชุมชน โดยมีบางส่วนที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ฉายภาพไว้ให้นำไปเป็นกรอบและทิศทางแนวโน้มที่ต้องการ
โดย วช. ได้ให้ทุนวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้มานานแล้วผ่านทางงานวิจัยเชิงพื้นที่มีการนำไปใช้ประโยชน์และส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์จริง สามารถเป็นโมเดลที่ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ตัวอย่างของความร่วมมือในพื้นที่ การยกระดับกระบวนการผลิต การส่งเสริมความรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศกว่าร้อยแห่ง สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจ BCG ได้เป็นอย่างดี
โดย วช. ได้ประเมินความสำเร็จของโครงการเหล่านี้จากรายได้ คุณภาพชีวิต การยกระดับ ความเข้มแข็งของชุมชน การช่วยลดมิติความเหลื่อมล้ำในสังคม การเกิดระบบเครือข่ายและมาตรฐานสินค้า และสิ่งที่ วช. มองไปข้างหน้า คือ ความยั่งยืน วช. จึงมีทุนวิจัยที่เรียกว่า “ทุน KM” เป็นทุนที่จะมอบให้นักวิจัยได้ทำงานในเชิงพื้นที่เพื่อให้มีการออกแบบโครงการร่วมกับชุมชน โดยขณะนี้ วช. ได้ให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 8 แห่ง มหาวิทยาลัยราชมงคล จำนวน 9 แห่ง และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สามารถพบกับโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างได้ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อนตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาพื้นที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพราะทรัพยากรและงบประมาณที่ลงไปจะเหมือนกับถมทะเลทราย เปิดน้ำในทะเลทรายน้ำก็ซึมหาย ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยคิดเป็น 20 เท่า ติดอันดับสูงสุดของโลก ทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” เพราะมุ่งเศรษฐกิจบนพื้นฐานของอุตสาหกรรม ซึ่งต่อไปจะต้องถูก Disrupt
ทั้งจากปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ หากจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจประเทศไทยต้องเปลี่ยนมาเป็นโมเดลพัฒนาประเทศแบบไทย เราต้องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มีการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน โดยฐานทุนที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งได้แก่ ฐานทุน BCG ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรพื้นถิ่น วัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ โดยใช้กลไกความร่วมมือ กระบวนการวิจัยและกระบวนการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะมีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า ในนามของ 9 มหาวิทยาลัยราชมงคลได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ในการมีบทบาทช่วยเหลือชุมชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้องค์ความรู้ การสร้างทุนมนุษย์ที่มีความรู้ในการสร้างผู้ประกอบการ ทักษะเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ 9มหาวิทยาลัยราชมงคล รวม 36 วิทยาเขต ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด ยังมีจุดแข็งในด้านทำเลที่ตั้งใกล้อุตสาหกรรมรายล้อมด้วยเอสเอ็มอีและการเกษตร ประกอบกับ นโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง มีการวางแผนปรับหลักสูตรเพิ่อบ่่มเพาะให้นักศึกษาทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ โดยตั้งเป้าให้นักศึกษาทุกหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษามีเงินเดือนมากกว่ามาตรฐาน 2.5 เท่า โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานวิจัย 23 หัวข้อ 145 โครงการ นอกจากนี้ สอวช. ยังได้มอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยทำยุทธศาสตร์พลิกโฉมระบบนิเวศผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูงเป็นนวัตกรพร้อมรับใช้สังคมในการสร้างความเข้มแข็งอีกด้วย
นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราคุ้นชินกับเอสเอ็มอี คือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยขาดการเหลียวแล ปัจจุบัน สสว. จึงได้เปลี่ยนนิยามของคำว่า “เอสเอ็มอี” เป็น “เอ็มเอสเอ็มอี” โดยให้ความสำคัญกับไมโครมากขึ้น เนื่องจากเอสเอ็มอีมีจำนวน 2.9 ล้านรายขณะที่ไมโครมีจำนวน 2.7 ล้านคน ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลใดควรให้การสนับสนนุต่อไป นอกจากนี้ แผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีฉบับที่ 5 ซึ่งพึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ได้มีการปรับแผนในการส่งเสริมให้ทันสมัยขึ้น โดยวิสัยทัศน์ของ สสว. ในขณะนี้ต้องการให้เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งมีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังมองไปถึงสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญ คือ ขณะนี้แม้ส่วนราชการจะให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการมากเพียงใด แต่ฐานรากของผู้ประกอบการไมโครในภูมิภาคยังขาดความรู้ในเชิงวิชาการ สิ่งที่ส่วนราชการป้อนให้อาจจะยากเกินระดับการรับรู้ จึงคิดว่า วช. จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้
วช. ขอเชิญผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 : Thailand Research Expo 2023” ซึ่งมีประเด็นสำคัญในการจัดเสวนาที่น่าสนใจอีกหลายหัวข้อเรื่อง ตั้งแตวันนี้จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ทุกท่านเป็นส่วนหนึ่งของการ “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่สร้างไทยยั่งยืน”