สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย โชว์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 70 ผลงาน เพื่อเข้าร่วมประกวดในงาน “Seoul International Invention Fair” (SIIF 2022) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
SIIF เป็นเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมากในเอเชีย ในแต่ละปีมีผลงานประดิษฐกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอและประกวดร่วม 1,000 ผลงาน
ประเทศไทยโดย วช. ในฐานะหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับ Korea Invention Promotion Association (KIPA) ด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับนานาชาติ และเป็นหน่วยงานที่ได้รับการมอบหมายจาก KIPA ในการพิจารณาคัดเลือกและนำผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในงาน SIIF เป็นประจำทุกปี
โดยในปี 2022 นี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีสำคัญระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทยในระดับสากล
สำหรับปี 2022 นี้ วช. ได้นำนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากประเทศไทยมากกว่า 200 คน จาก 32 หน่วยงาน/สถาบัน ร่วมนำเสนอผลงานใน SIIF 2022 ในด้านต่างๆ ได้แก่
• Mechanics / Engines / Machinery / Tools /Industrial process / Metallurgy
• Computer science / Software / Electronics /Electricity Methods of Communication
• Building / Architecture / Civil Engineering /Construction / Materials / Woodwork
• Security / Rescue / Alarm
• Commercial, Industrial, and Office equipment
• Agriculture / Forestry and Garden /Pet and Farm animal supplies
• Medical Technology / Medicine / Hygiene /Cosmetics
• Games / Sport / Hobby
• Environmental protection
• Other inventions and new practical products
โดยในวันแรกของการจัดงาน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมเยี่ยมชมผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ซึ่งผลงานต่างๆ ที่เข้าร่วมนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติที่ SIIF 2022 ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาคัดกรองจาก วช. โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการแข่งขันในระดับนานาชาติ
ซึ่งวช.มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าและคุณค่า จากทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นประโยชน์กับประเทศไทย รวมทั้งวช.มีพันธกิจและเป้าหมายในการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติด้านการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีในการสร้างแรงจูงใจ ความเชื่อมั่นและการยอมรับในผลงานคุณภาพของนักประดิษฐ์และนักวิจัยในมาตรฐานสากล