วช. ดึงงานวิจัย “ไทยอารี” สร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย

0
183

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2565 สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างแรงงาน อันมีผลต่อรายได้ในอนาคต เนื่องจากแรงงานที่เกษียณอายุไม่มีรายได้ ต้องพึ่งพาลูกหลาน ส่งผลให้คนทำงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าต้องมีภาระเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากขาดบุตรหลานพึ่งพิงและไม่มีเงินออมเพียงพอจะใช้ในการดำรงชีวิตบั้นปลาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิต

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงมอบหมายภารกิจตามนโยบายสำคัญของ อว. ในยุทธศาสตร์ Quick Wins เรื่อง “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการสร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้ได้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ในการขยายผลโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่ มีทักษะสำหรับสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยการเสริมสร้างและเติมพลังสู่ผู้สูงอายุ และเพื่อเป็นการขยายผล วช. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “ไทยอารี” (Thai ARI: Thai Platform for Ageing Research Innovation) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเป็นต้นแบบระบบรองรับการสูงวัยในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละภูมิภาค ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต

ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ กล่าวว่า โครงการไทยอารี เป็นการต่อยอดขยายผลจากโครงการจุฬาอารี ที่ดำเนินการสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบระบบรองรับสังคมสูงวัยในกรุงเทพมหานคร
โดยแผนงานวิจัยไทยอารี เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละภูมิภาค ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต คนรุ่นใหม่มีการเตรียมความพร้อมพร้อมเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และมีการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่สามารถส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการในชุมชน ด้วยการวางรากฐานและการพัฒนาต้นแบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนเมืองทั้ง 4 ภาคเริ่มที่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

การดำเนินงานใช้หลักงานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ การจัดเวทีกลางของประเทศไทยภายใต้ชื่อ “แผนงานวิจัยไทยอารี” เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนวัตกรที่มีคุณภาพในพื้นที่ชุมชน และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบาย แผน และการขับเคลื่อนงานรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน นอกจากนี้ยังได้นำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และการบริการลงไปในพื้นที่ ได้แก่ หุ่นยนต์โทรเวชกรรม หุ่นยนต์โทรเวชกรรมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาและบริบทของพื้นที่ และนวัตกรรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่อเนื่องตลอดชีวิต จำนวน 9 เรื่อง สปอตเสียงตามสาย 12 เรื่อง และจัดการอบรม 8 เรื่อง

ประโยชน์ที่ได้จากการลงพื้นที่ของโครงการไทยอารี พบว่า มีการวางรากฐานระบบรองรับสังคมสูงวัยแบบองค์รวมในพื้นที่ 4 ชุมชนต้นแบบ รวมถึงผู้สูงวัยในชุมชนมีเป้าหมายได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานมีความตระหนักเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อยามสูงวัย และการดูแลการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างวัย

หัวใจที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้โครงการไทยอารีเป็นงานวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้ง เกิดการขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืน จากการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำในทุกขั้นตอนของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน
ผู้สูงวัย และกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนที่เกี่ยวข้องในชุมชนก็ได้มาร่วมกันทำงานอีกด้วย