วช. ชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย NRCT Open House 2022

0
1012

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังมุ่งเน้นการตอบผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 โดยในปี 2566 วช. ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ดำเนินการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง วช. มุ่งมั่นการสร้างนักวิจัยที่สามารถสร้างองค์ความรู้และผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายการวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไป โดยภายในการประชุมดังกล่าว มีการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย ประจำปี 2566 ซึ่ง วช. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งพัฒนาผู้สูงวัยให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง การเพิ่มมูลค่าทางสังคม ทั้งในมิติเมืองและชนบท และด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย การอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

กิจกรรมภายในงาน มีการเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย” มีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ดร.มารยาท สมุทรสาคร คุณศิริลักษณ์ มีมาก และศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา นอกจากนี้ ยังมีการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยทั้ง 5 ท่าน ดังนี้9 ผศ.ดร.ดิเรก เสือสีนาค ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รศ.ดร.นัทธี สุรีย์ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่การเตรียมความพร้อม ประเทศไทยสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วยการวิจัยและนวัตกรรม

สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึง วันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ ระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nrils.go.th