วันที่ 23 มกราคม 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดการแสดงดนตรีประจำชาติภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” และ “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

โดยท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการเปิดงาน ซึ่งมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิ สุกรี เจริญสุข และผู้บริหารส่วนจังหวัด ให้การต้อนรับ

แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยที่มีศักยภาพในการสืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมดนตรีไทย พร้อมยกระดับมาตรฐานดนตรีพื้นบ้านให้ก้าวสู่เวทีสากลการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมดนตรี”ไทยใหม่” การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา มาแสดงในชุมชนท้องถิ่นไทย เป็นโครงการวิจัยโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

ซึ่งได้สร้างสีสันให้แก่พื้นที่ทั่วประเทศมาแล้ว 19 ครั้ง ในครั้งนี้ มีโอกาสนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรามาแสดงที่ปราสาทเมืองต่ำ พร้อมด้วยศิลปินระดับชาติ ครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ครูคำเม้า พิณพระอินทร์ และยังมีศิลปินเยาวชนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสร่วมงานการแสดงในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสำเร็จของการจัดงานแสดงผลงานวิจัยดนตรี “ไทยใหม่” จะเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่น ๆ ที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ของชาติ เมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ได้มีโอกาสจัดงานแบบเดียวกับที่ปราสาทเมืองต่ำแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญ ทำให้ชุมชนมีความภูมิใจเข้มแข็งมากขึ้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการไทยใหม่ได้เปิดโอกาสให้มีการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี 6 วง ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี วงเยาวชนเหล่านี้ได้ร่วมแสดงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อส่งเสริมพัฒนาฝีมือนักดนตรีเยาวชนไทย เป็นการนำพลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมใหม่ เพื่อสร้างความสุข ความบันเทิง สร้างประวัติศาสตร์ดนตรีไทยในมิติใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจให้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชาติต่อไป

ทั้งนี้ ได้นำเพลงที่วิจัยในท้องถิ่นมาเรียบเรียงเป็น “ไทยใหม่” เสียงวิเศษที่ร้อยจิตใจให้ทุกคนมีความรักและผูกพันต่อกัน การแสดงดนตรีโดยนำทำนองของเพลงวัฒนธรรมขอม เพลงกันตรึม และเพลงเจรียง ซึ่งซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของท้องถิ่นมาหลายชั่วอายุคน ดนตรีเป็น 1 ใน 11 พลังสร้างสรรค์ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อสร้างสรรค์เป็นไทยใหม่และขอแสดงความยินดี กับน้อง ๆ นักดนตรีทั้ง 6 วง ที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาถึงการแข่งขันในเวทีรอบการแสดงกลางแจ้งในวันนี้ และขอขอบคุณมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดการกิจกรรมการประลองดนตรีในครั้งนี้
รอบการแสดงครี่งแรก ช่วงที่ 1 ประลองวงเยาวชนดนตรี 6 วง แสดงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ควบคุมวงโดย ดร. ธีรนัย จิระสิริกุล ผู้ควบคุมวงการแสดง ดังนี้ 1.วง Momentoom 2.วง Violimba 3.วง พิชชโลห์ 4.วง Einschlag Ensemble 5.วง Pirun Naga Quintet และ 6.วง Tempesta Trio และรอบการแสดงครึ่งหลัง ช่วงที่ 2 วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ควบคุมวงโดย พันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์
ผลการเเข่งขันประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ 2568 ณ ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ดังนี้
-ผู้ชนะเลิศ การเเข่งขันประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ 2568 รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ “วง พิชชโลห์”
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ได้แก่
วง Violimba - รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง ได้แก่
วง Einschlag Ensemble - รางวัลชมเชย ได้แก่
วง Pirun Naga Quintet ,วง Momentoom และ วง Tempesta Trio - รางวัลขวัญใจมิตรรักแฟนเพลง ได้แก่
วง Pirun Naga Quintet