“ภัยแล้ง” เป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจน กว่า 14 ปีที่เอสซีจีร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายแก้ปัญหาภัยแล้ง และต่อยอดความสำเร็จสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ถือเป็นบทพิสูจน์ถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งถอดบทเรียนความสำเร็จจากการบริหารจัดการน้ำชุมชนนำมาสู่บทสรุป “เลิกแล้ง เลิกจน โมเดล” เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันขยายผล ปลุกชุมชนทั่วประเทศลุกขึ้นลงมือทำให้รอดแล้ง และมีรายได้ที่มั่นคงเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง
“เรียนรู้สู่การลงมือทำ” ก้าวแรกสู่ความสำเร็จ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทุกคนคงเคยได้ยินประโยค “น้ำคือชีวิต” ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพราะทุกอย่างต้องพึ่งพาน้ำ ฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำจึงเท่ากับบริหารจัดการชีวิต สิ่งสำคัญต้องเริ่มต้นด้วยการช่วยเหลือตัวเองก่อน ซึ่งขณะนี้มีความสำเร็จเกิดขึ้นนำไปสู่ เลิกแล้ง เลิกจน และอยากต่อคำว่ารวยแล้วให้เห็น สามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างได้จำนวนมาก อย่างเช่นชุมชนดงขี้เหล็กที่คนในชุมชนร่วมมือกันสร้างแหล่งน้ำด้วยตัวเอง ผืนดินทุกแปลงมีสระน้ำของตัวเอง มีการเก็บน้ำทุกหยด มองน้ำเป็นทองคำ และเห็นน้ำเป็นชีวิต เป็นการเดินตามรอยพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง
“ทุกคนเคยได้ยิน น้ำคือชีวิต แต่ไม่ได้เคลื่อนความคิดของเราไปแสวงหาคำตอบ พระองค์ตั้งคำอุปมาอุปไมยไว้เป็นโจทย์แห่งธรรมะที่เราต้องวิเคราะห์และตีให้แตก เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติแต่เป็นวิธีคิด ให้ประมาณตนก่อน ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง ให้บริหารความเสี่ยงอย่างแม่นยำ อย่างระมัดระวัง คือ การสร้างภูมิคุ้มกันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯจึงย้ำคำว่า “เทิด ด้วย ทำ” คือ เรียนรู้สู่การลงมือทำ หลายชุมชนที่เผชิญปัญหาแล้ง ปัญหายากจน ปัญหาหนี้สิน แต่เขาลุกขึ้นมาทำ ในส่วนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯมี 60 ชุมชน ประมาณ 730 หมู่บ้าน วันนี้รอดแล้งหมดแล้ว เพราะทำตามแนวทางของพระเจ้าอยู่หัว เขาเก็บน้ำ บริหารน้ำ ดูด้วยต้นทุนน้ำเท่าไหร่ควรปลูกอะไร ทำกิจกรรมให้สอดคล้องกับต้นทุน เป็นคำแรกของเศรษฐกิจพอเพียงคือ การประมาณตน ซึ่งมี 24 ชุมชนที่จัดการได้ดีเยี่ยมเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตเป็นครูกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากสนใจอยู่ที่ไหนก็เข้าไปเรียนรู้ได้ เมื่อเขาทำสำเร็จแล้วทำไมเราไม่ทำ ลงมือทำจะได้เลิกแล้ง เลิกจน และรวยกันเสียที เพื่อให้เรารอด ลูกหลานจะได้รอด สำหรับคนที่เดินตามรอยในหลวงสำเร็จทุกราย”
“รู้รักสามัคคี เข้าใจ เข้าถึง ร่วมพัฒนา” ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “เรื่องรู้รักสามัคคี เข้าใจ เข้าถึง และร่วมกันพัฒนา เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะเรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน ต้องอาศัยความสามัคคีและ
ความร่วมมือของทุกภาคส่วน จึงจะได้เห็นความสำเร็จอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งรู้รักสามัคคีเป็นมนตราที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้คนไทยในองค์กรเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน ทำงานใหญ่ร่วมกันให้สำเร็จ หลักคือ ต้องรู้ตัวเอง รู้ระบบงาน รู้สิ่งแวดล้อม รู้เพื่อนที่ร่วมงาน รู้เพื่อนในชุมชน คำว่ารู้ต้องกว้าง ต้องรู้จริง จึงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อรู้แล้วต้องเกิดศรัทธา ไม่ว่าจะเป็น งานที่ทำ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชุมชน เพื่อนบ้าน เพราะความสำเร็จจะไม่เกิดความสามัคคีก็ไม่เกิดด้วย ดังนั้น รักเป็นเสน่ห์ที่พยายามดึงคนเข้ามาร่วมเป้าหมายเดียวกัน จากนั้นจึงจะเกิดความสามัคคี และยังมีมนตราอีกบทที่พระราชทานให้คือ เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา ซึ่งคำว่า เข้าใจ เข้าถึง ต้องเป็นด้วยกันทั้งสองทาง จึงจะร่วมพัฒนาได้”
สอดคล้องกับตัวแทนชุมชนจากบ้านสาแพะเหนือ จังหวัดลำปาง นายมานพ ปั้นเหน่ง กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันเรียนรู้จัดการน้ำ โดยมีเอสซีจี และ สสน. เป็นที่ปรึกษา เริ่มจากทำฝายชะลอน้ำบนพื้นที่ต้นน้ำเห็นว่าช่วยกักเก็บน้ำได้ จึงนำมาใช้ในหมู่บ้านทำฝายใต้ทราย 9 ฝาย ชะลอไม่ให้น้ำไหลลงแม่น้ำแม่วังอย่างรวดเร็วเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรให้นานที่สุดแก้ปัญหาแล้งได้ หลังจากนั้นร่วมกันสร้างบ่อพวงคอนกรีต หรือแทงค์น้ำ 9 แทงค์ตามจุดต่าง ๆ ให้ครอบคลุม และฟื้นฟูแหล่งน้ำในหมู่บ้าน ทำให้สูญเสียน้ำน้อยที่สุดด้วยการวางท่อต่อเข้าไปสวน ซึ่งใช้แรงงานในชุมชนล้วน ๆ แบ่งหน้าที่กันทำงาน หากใครมาลงแรงไม่ได้ก็นำสิ่งของ อาหารมาแทน หลังจบงานแต่ละวันจะร่วมประชุมวางแผนในการทำงานวันต่อไป จุดนี้สะท้อนว่าต้องมีความสามัคคีจึงสำเร็จ ปัจจุบันความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น มีน้ำพอเพียงให้ปลูกพืชหมุนเวียนเก็บขายได้ทุกวัน ลูกหลานกลับบ้านมาอยู่บ้านร่วมกัน ความอบอุ่นของครอบครัวกลับคืนมา เป็นความสุขแท้จริง จากการมีน้ำ แถมยังต่อยอดกระจายรายได้ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ใกล้เคียง
ใช้องค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การตลาด เทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ภาคสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ มีผลต่ออาชีพและเศรษฐกิจ ซึ่งเอสซีจีเรียนรู้ทำเรื่องน้ำมา 14 ปี พบว่านอกเหนือจากการเก็บน้ำ การนำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่อประกอบอาชีพอย่างมีคุณค่าได้มากขึ้นคือ การแก้จน ช่วยให้คนยกระดับอาชีพและรายได้ที่ดีขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง และสิ่งที่ถอดประสบการณ์มาคือ โมเดล เลิกแล้ง เลิกจน นำเอาองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การตลาด เทคโนโลยีมาใช้”
รัฐพร้อมร่วมผลักดัน ย้ำ “น้ำ” ต้องเพียงพอทุกภาคส่วน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้ง 4 ด้าน นั่นคือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อระบบนิเวศ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชนต้องร่วมมือกัน กระทรวงฯเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐที่มีหน้าที่หาน้ำให้ประชาชน ขณะที่ประชาชนก็ต้องมีจิตสำนึกช่วยกันดูแลรักษา ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ท่านนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องน้ำต้องเพียงพอทุกภาคส่วน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ที่ดี เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอย่างเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องลงมือทำด้วยตัวเองจึงจะประสบความสำเร็จ”
ยืนยันปีนี้สาหัสต้องบริหารความเสี่ยงทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
ดร.รอยล จิตดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวปิดท้ายว่า การบริหารน้ำของประเทศไทยเป็นแบบแยกส่วนระหว่างน้ำท่วมและน้ำแล้ง ไม่ได้บริหารความเสี่ยง ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งเรื่องการบริหารความเสี่ยงมาตลอด ทั้งระดับประเทศและระดับชุมชน คือเกษตรทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง ล้วนมีรากฐานมาจากการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ เยอะมาก รูปแบบการตกของฝนที่เปลี่ยนไป เกิดทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งจึงต้องบริหารความเสี่ยงไปพร้อมกัน และในปีนี้ยืนยันว่าช่วงแล้งจะวิกฤติสาหัสแน่ เพราะฝนทิ้งช่วง ขณะที่น้ำต้นทุนในเขื่อนเหลืออยู่น้อย แต่ยังโชคดีที่ฝนมาเร็วตกหนักในเดือนกันยายนทำให้เจอปัญหาน้ำท่วมด้วย