ทาสทั้งหลายรู้ไหมคะ ? ว่า “โรคหัวใจ” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนอย่างเดียว แต่เจ้าตูบก็สามารถเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน (Talingchan Animal Hospital) มีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากค่ะ
ก่อนอื่นเริ่มจากโรคหัวใจ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- โรคลิ้นหัวใจเรื้อรัง
โรคลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจเพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัข
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัวหรือผนังห้องหัวใจบางและอ่อนแอ มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในแมว
โรคหัวใจทั้ง 2 ชนิดนี้ จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา แต่ทั้ง 2 ชนิด สามารถก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า หัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
สาเหตุของโรคหัวใจ มักเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่
- สภาพร่างกาย สุนัขและแมวที่มีน้ำหนักเกินจะมีความเสี่ยงสูงได้
- อายุ สุนัขที่พบว่าเป็นโรคหัวใจมักจะเป็นสุนัขที่มีอายุมาก แต่ก็สามารถพบได้ในสุนัขแรกเกิดหรือหลังเกิด หรือ ช่วงกลางของชีวิติ
- สายพันธุ์ สุนัขพันธุ์เล็กมักเป็นโรคนี้ เช่น พุดเดิ้ล, มินิเอเจอร์ชเนาเซอร์, ชิวาวา, ฟอกซ์เทอร์เรียร์, ค็อกเกอร์สแปเนียล ฯลฯ แต่ในกรณีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ มักเกิดในสุนันพันธุ์ใหญ่ อาทิ เกรทเดน, โดเบอร์แมน, อัพกันฮาวนด์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น อิงลิชบูลด็อก เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจ
อาการโรคหัวใจในสุนัขค่อนข้างไม่แน่นอน สามารถบ่งบอกได้ยากเพราะมักคล้ายกับความผิดปกติของโรคอื่น ๆ อาจจะพบได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้จนถึงสามารถสังเกตพบอาการ แต่อาการจะมีความเด่นชัดหรือมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมีมากขึ้น อาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น
- อ่อนเพลียง่ายหรือขาดพลังงาน
- หายใจลำบาก
- ไม่กินอาหารและน้ำหนักตัวลดลง
- มีการไอบ่อย ๆ
- อ่อนแอ เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง
- เป็นลม หมดสติ
- ท้องบวมขยายใหญ่
แนวทางการวินิจฉัยโรคหัวใจในสุนัข
- ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจและปอด
ประวัติและอาการที่เจ้าของตรวจพบจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจได้ เพราะบางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นขณะที่ทำการตรวจ เช่น การไอเสียงเบาในลำคอร่วมกับมีอาการรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนและหายใจลำบาก หรือหัวใจเต้นเร็วร่วมกับชีพจรเบา มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ
การฟังที่ช่องอกก็ทำให้ทราบอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจได้ นอกจากนี้อาจมีการตรวจคลำดูลักษณะการเต้นของชีพจรว่ามีความดัง- เบาและสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจหรือไม่ เพราะสามารถใช้บ่งบอกถึงโรคของหัวใจบางอย่างได้ รวมถึงการฟังและการเคาะที่ช่องอกจะช่วยบ่งชี้สภาวะความผิดปกติของปอด เช่น มีน้ำ อากาศ ความแน่นทึบ ในช่องอกหรือไม่
- ตรวจเลือดทั่วไป ตรวจค่าการทำงานของตับ ไต ตรวจโรคพยาธิหนอนหัวใจ
– การตรวจนับเม็ดเลือด เช่น กรณีที่สงสัยว่ามีโรคติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
– การตรวจพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm Disease) ตรวจวัดระดับแอนติเจน (พยาธิหัวใจตัวแก่) หรือตรวจหาไมโครฟิลาเรีย (พยาธิหัวใจตัวอ่อนที่อยู่ในกระแสเลือด)
– การตรวจค่าไต (Urea, Creatinine) ในกรณีที่สงสัยว่ามีปัญหาการทำงานของไต เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงที่ไตไม่พอ
– การตรวจวัดความผิดปกติของอิเล็กโตรไลต์
– การตรวจวัดเอ็นไซม์จากตับ (ALP, ALT) ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดออกซิเจน
– การตรวจวัดระดับ CPK ซึ่งอาจสูงจากการเกิด การเสื่อมหรือการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ
- เอ็กซเรย์ช่องอก
เพื่อประเมินขนาดหัวใจและปอดว่ามีความปกติหรือไม่ การเอ็กซเรย์ช่องอกและส่วนคอเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยแยกโรคหัวใจออกจากโรคระบบทางเดินหายใจ โดยจะเอ็กซเรย์ในขณะที่น้องหมาหายใจเข้าลึกที่สุด 2 ท่า คือ ท่านอนหงายและนอนตะแคง ภาพเอ็กซเรย์จะทำให้เราสามารถเห็นสภาพของปอด หลอดลม เส้นเลือดในปอด และช่องอก ซึ่งบอกถึงความผิดปกติที่อาจเกิดจากโรคของระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจได้
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความสำคัญในน้องหมาบางตัวที่ตรวจพบการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคของปอดหรือโรคของหัวใจเองที่ไม่สามารถตรวจพบจากการเอ็กซเรย์ช่องอก เช่น เกิดความผิดปกติของการนำกระแสประสาทหัวใจหรือมีการขยายใหญ่ของหัวใจ
- อัลตร้าซาวด์หัวใจ
เพื่อดูโครงสร้างภายในของหัวใจที่อาจมีความผิดปกติ เช่น การปิดไม่สนิทของลิ้นหัวใจ การรั่วของผนังห้องหัวใจ หรือการตีบแคบของหลอดเลือดที่หัวใจ การมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจ เป็นต้นนอกจากนี้ยังสามารถใช้วัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ การบีบตัวและการคลายตัวได้
โรคหัวใจในสุนัขสามารถรักษาได้ แต่อาจจะไม่มีการรักษาแบบใดที่สามารถรักษาโรคหัวใจของสุนัขได้ทุกชนิด ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาโรคหัวใจสุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยสัตว์ที่ป่วยโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการออกกำลังกาย การใช้ยา รวมถึงการเลือกกินอาหารที่ถูกต้องร่วมกับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ แต่การตรวจพบปัญหาโรคหัวใจในระยะแรก ๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตน้องหมาได้เร็ว ทำให้น้องอยู่กับเราได้อีกนาน