ระดมผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจประกันภัย ให้ฟีดแบ็คเพื่อชูบทบาทธุรกิจประกันภัยให้มั่นคงและยั่งยืน ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
ได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566ณ ห้อง เลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดากรุงเทพมหานคร
โดยหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจประกันภัย ให้มีองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่าง ๆ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ตลอดจนการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโลก เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลาย ช่วยให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถทำหน้าที่เป็น Insurance Ambassador โดยเป็นผู้สื่อสารความรู้ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องของการประกันภัยให้สังคมและสาธารณชนได้
ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศกับบทบาทของการประกันภัยภายใต้ New Challenges” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศนับจากนี้ไปต้องมุ่งเน้นที่ 5 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for digital economy) ประเด็นที่ 2 ข้อตกลงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change commitment) ประเด็นที่ 3 การเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงาน (Energy Transition) ประเด็นที่ 4 ประชากรผู้สูงอายุ (Aging population) และประเด็นที่ 5 ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal sustainability)
ในขณะเดียวกันบทบาทของการประกันภัยภายใต้ New Challenges ที่ภาคธุรกิจประกันภัยจะเข้าไปเกี่ยวข้องต่อสภาพความเป็นอยู่ของสังคม ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม PM2.5 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจถดถอยกระทบต่อความสามารถในการออมและรายได้ รวมถึงสภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
ซึ่งภาคการเงินยังมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหนึ่งความเสี่ยงที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และมีผู้สูงอายุหรือคนวัยหลังเกษียณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่ลดลง อาจนำไปสู่วิกฤติการคลังจากการที่รัฐบาลมีภาระต้องช่วยเหลือด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
ดังนั้น ระบบประกันภัยจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
เนื่องจากเป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาวที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับและมีส่วนแบ่งเบาภาระของรัฐด้านสวัสดิการและสงเคราะห์ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ความคุ้มครองและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับจากการประกันภัยสุขภาพของภาครัฐ ซึ่งการประกันภัยมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสังคม และประชาชนให้ได้รับโอกาสและคุณภาพที่ดีขึ้น
ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานกำกับดูแล จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้ระบบประกันภัยมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน โดยธุรกิจประกันภัยจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านกลไกที่มีความหลากหลายและครอบคลุมความเสี่ยงในทุกประเภท ภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่าการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง วปส. รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ได้มีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจประกันภัย เข้าร่วมรับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 90 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ จำนวน 5 คน ภาคการเงิน จำนวน 8 คน ภาคธุรกิจประกันภัย จำนวน 14 คน และภาคเอกชนอื่น ๆ จำนวน 63 คน โดยเริ่มเปิดการศึกษาอบรมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ ดังนี้ การบรรยาย สัมมนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเน้นการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาและการมีส่วนร่วม การจัดทำและนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม การศึกษาดูงาน และกิจกรรมเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับกิจกรรมการศึกษาอบรมในหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 แบ่งออกเป็น 8 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุกในระดับประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ หมวดที่ 2 บทบาทธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในยุค Next Normal หมวดที่ 3 การขับเคลื่อนเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) หมวดที่ 4 บทบาทของธุรกิจประกันชีวิตกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ และสังคมไทย หมวดที่ 5 ปรัชญาในการบริหารสำหรับผู้นำในยุคดิจิทัล หมวดที่ 6 การสร้างบรรษัทภิบาลกับการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน หมวดที่ 7 ประเด็นร่วมสมัย และหมวดที่ 8 กิจกรรมพิเศษ โดยแต่ละหมวดหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นได้มีการปรับปรุงให้มีความเข้มข้น ทันสมัย และสอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มีผลต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ตั้งแต่ด้านการบริหารความเสี่ยง การประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การประกันวินาศภัย การประกันชีวิต เทคโนโลยีประกันภัยในด้านต่าง ๆ บรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ
โดยเป็นหลักสูตรเดียวที่มีการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบเจาะลึกด้านประกันภัยในทุกมิติ “เรื่องที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษฯ นับว่าน่าคิดและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะได้นำนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯ ตลอดจนประเด็นร่วมสมัยต่าง ๆ มาเพิ่มเติมเนื้อหาของหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งจะจัดให้มีการถกแถลงและระดมความคิดเห็นจากนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 11 เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการกำกับดูแลระบบประกันภัยของไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย