เดือนเม.ย.65 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการตรึงราคาก๊าซโดยปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 333 บาทจาก 318 บาทต่อ 15 กิโลกรัม และจะทยอยปรับราคาขึ้นเป็นแบบขั้นบันได นอกจากนี้ในเดือนพ.ค 65 ภาครัฐจะยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรต่อเนื่องจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและสร้างความกังวลให้ภาคครัวเรือนมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าลดลงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 32.5 และ 35.5 จาก 33.4 และ 36.1 ในเดือนมี.ค. 65 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีปัจจุบันพบว่าลดลงอยู่ในระดับต่ำเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของราคาสินค้าผู้บริโภค หมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงพลังงาน บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นของราคาสินค้าจำเป็นดังกล่าวซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 65 ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 4.65% YoY แม้อัตราการเพิ่มขึ้นรายปีจะชะลอลงจากเดือนก่อนแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง อีกทั้งดัชนีย่อยในส่วนของเนื้อสัตว์ (+6.86%) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (+9.89%) รวมถึงค่ายานพาหนะและขนส่งและการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นถึง 10.73% หรือเมื่อมองในภาพรวมของค่าใช้จ่ายครัวเรือนรวมในเดือนเม.ย.65 อยู่ที่ 17,681 บาท จาก 16,895 บาทในเดือนเม.ย.64 (+4.65%) จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าจำเป็นยังอยู่ในระดับสูงซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือนที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานและรายได้ยังไม่ได้กลับมาปกติ นอกจากนี้มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 ได้สิ้นสุดโครงการลงโดยยังไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มเติม (ล่าสุดมี 10 มาตรการที่เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมว่าครัวเรือนจะมีวิธีการรับมือกับระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร ผลสำรวจระบุว่า 29.9% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดเล็กลงหรือเปลี่ยนยี่ห้อให้มีราคาถูกลง ขณะที่ 14.5% ลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยลดลง อย่างไรก็ดี มี 16.6% ที่เพิ่มช่องทางในการหารายได้เสริม นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวการสิ้นสุดโครงการคนละครึ่งระยะที่สี่ (มี.ค.-เม.ย.65) ว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างไร ผลสำรวจระบุว่ามี 40.8% ที่เมื่อโครงการคนละครึ่งจบลงจะใช้จ่ายลดลง โดยภาพรวมจากผลสำรวจเพิ่มเติมสะท้อนว่าผลกระทบจากสินค้าราคาสูงได้เริ่มส่งผ่านมาถึงการปรับลดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการฟื้นตัวภาคธุรกิจ และการจ้างงานต่าง ๆ*% จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจว่าจะรับมือสถานการณ์ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร
(คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ที่มา: ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ในภาวะที่รายได้ของครัวเรือนยังไม่กลับมาเต็มที่ การจ้างงานยังมีแนวโน้มเปราะบาง ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (รายได้ลดลง หรือคงที่แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น) ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงที่ 90.1% ในปี 2564 จาก 89.7% ในปี 2563 โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนในปีที่ผ่านมา สัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 8% จาก 7% ในปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องหมุนเวียนค่าใช้จ่ายซึ่งสะท้อนถึงว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่ภาระหนี้ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ จะทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนถูกบั่นทอนลง ความเชื่อมั่นต่าง ๆ ที่ลดลงจะทำให้ครัวเรือนเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงอยู่ต่อเนื่อง หากพิจารณาในฝั่งผู้ผลิตผ่านดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเม.ย.65 พบว่าเพิ่มขึ้นสูงมากอยู่ที่ 12.8% YoY โดยมีแรงกดดันหลักจากราคาพลังงาน (ปิโตรเลียมดิบและก๊าซ) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลกหลังเกิดสงครามรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจากการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐฯ และไทยจะกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง (บาทอ่อนส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น) อีกทั้งภาครัฐยกเลิกการตรึงราคาพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมัน ต่อจากนี้เราจึงอาจจะเริ่มเห็นการส่งผลผ่านราคาต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ผู้บริโภคซึ่งจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของภาคครัวเรือน
สถานการณ์ราคาสินค้าสูงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากต้นทุนราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นซึ่งเป็นภาวะที่ทั่วโลกต่างเผชิญ มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบหรือการตรึงราคาสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาจไม่ใช่วิธีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากยังไม่สามารถรู้ถึงจุดสิ้นสุดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และการดำเนินมาตรการภาครัฐต่างๆ ก็มีต้นทุนที่เป็นภาระทางการคลัง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ลากยาว แนวทางที่จะบรรเทาปัญหาอาจจะต้องมุ่งเน้นไปที่ฝั่งรายได้และการจ้างงาน โดยอาจออกมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มทักษะต่าง ๆ ออกมาเพิ่มเติม