นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ารับฟังข้อร้องเรียนของผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ และจะทำหนังสือส่งถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) โดยด่วน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาทบทวนการยกเลิกสารพาราควอต
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวถึงผลกระทบหลังจากการแบนพาราควอตว่า ปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตรกรต้นทุนสูงขึ้น หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร บางส่วนเลิกทำเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมเกษตรประสบปัญหา อาจเกิดการเลิกจ้างงาน สินค้าผิดกฎหมายลักลอบผสมสารเคมีอ้างเป็นสารชีวภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะขาดการตรวจสอบ ควบคุมสารชีวภัณฑ์ รวมทั้ง เกษตรกรได้นำแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำแล้ว ได้แก่ สารทางเลือก ไกลโฟเซต และกลูโฟซิเนต พบว่า วัชพืชไม่ตาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชปลูก ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งนักวิชาการแสดงความเห็นต่อสารทางเลือกต่าง ๆ พบว่า ไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพ และราคา
นอกจากนี้ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท) ได้สำรวจและวิเคราะห์สารตกค้างในกลุ่มสินค้าเพื่อบริโภคในประเทศไทย อาทิ น้ำตาล น้ำอ้อย แป้งมัน สาคู ข้าวโพดต้ม ข้าวโพดกระป๋อง ข้าวโพดอาหารสัตว์ และอื่น ๆ รวม 35 รายการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ไม่พบสารพารา ควอตตกค้างแม้แต่รายการเดียว สอดคล้องกับ นิตยสารฉลาดซื้อของมูลนิธิผู้บริโภค ได้สำรวจและวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอตในปูนาดองเค็ม ทั้งหมด 16 รายการ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ไม่พบการตกค้างของพาราควอตทุกตัวอย่าง ซึ่ง ปูนา เป็นวัตถุดิบหลักในการทำ น้ำปู หรือ น้ำปู๋ อาหารไทยภาคเหนือ ขณะเดียวกัน สนอท ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำรวจความคิดเห็นจากเกษตรกรทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2563 พบว่า ร้อยละ 87 ไม่เห็นด้วยต่อการแบนพาราควอต เพราะยังไม่มีวิธีการหรือสารมาทดแทนได้ ไม่สามารถหาแรงงานคนมาถอนหญ้าได้ พาราควอตมีประสิทธิภาพดีและไม่ส่งผลต่อพืชปลูก
“เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ จึงขอให้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ดำเนินการจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพารา ควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อนำไปสู่การทบทวนอย่างเป็นธรรมใหม่อีกครั้ง 2. ขอให้นำมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยดำเนินมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุด และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และ 3. ขอให้จัดทำหนังสือถึง คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย”
หลังจากการแบนสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะพาราควอต หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน แพทย์ นักวิชาการเฉพาะทาง และตัวแทนเกษตรกร ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวหลากหลายมุมมอง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช กล่าวถึงประเด็นผลการศึกษาตรวจพาราควอตในเลือดหญิงมีครรภ์ และการตรวจพบในอุจจาระเด็กแรกคลอด (ขี้เทา) ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีหลายจุดที่เห็นว่า ไม่มีรายงานแจ้งความผิดปกติด้านสุขภาพ การอภิปรายสรุปของคณะศึกษาง่ายและรวบรัดเกินไป โดยในฐานะนักวิชาการควรพิจารณาข้อมูลหลายด้านประกอบกัน เช่น ข้อมูลการศึกษาในสภาพที่ปรับระเบียบวิธีศึกษาโดยนักวิชาการเกษตร นักเวชศาสตร์ป้องกัน นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสรุปข้อมูลก็อาจเปลี่ยนไป ข้อย้ำว่าโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากพารา ควอตนั้น ป้องกันได้ เช่นเดียวกับ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่ใช้ยาสารเคมีพิษบำบัดรักษาผู้ป่วย
ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และราคาเทียบเท่าพาราควอต ให้เกษตรกรใช้เป็นทางเลือก ตลอดจน ปัจจุบันยังไม่มีชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร สำหรับให้เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืช มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต ดังนั้น การพิจารณาทบทวนยกเลิกการใช้พารา ควอตในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรศึกษาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้านอย่างเป็นธรรม รวมทั้ง ไม่ควรอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอต ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะมีค่าตกค้างของพาราควอตไม่เกินค่ามาตรฐานโคเด็กซ์ (codex) ก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ควรส่งเสริมมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร และฝึกอบรมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีความรู้ เพื่อให้สามารถใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ตามแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย เป็นทางออกที่ดีที่สุด
น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า กระบวนการที่นำมาสู่การประกาศวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือ วอ.4 เป็นการสร้างข้อมูลเท็จระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับเอ็นจีโอ ซึ่งกล่าวอ้างว่า พบสารตกค้างพาราควอตและไกลโฟเซตในผลผลิตทางการเกษตร เมื่อมีการตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่เป็นความจริง โดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข 8 หน่วยงาน ไม่มีข้อมูลแต่เป็นการนำข้อมูลจากเอ็นจีโอมาเสนอแบน และเมื่อตรวจสอบข้อมูลของเอ็นจีโอแล้ว ไม่พบว่ามีการตกค้างของสารพาราควอตและไกลไฟเซต ส่วนสารคลอร์ไพริฟอส ตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ด้านการเผยแพร่ผลงานของนักวิชาการที่กล่าวอ้างถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ตรวจสอบ พบว่า ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่เผยแพร่สู่สาธารณะและไม่ได้การรับรอง รวมทั้งการกล่าวอ้างการแพร่สารเคมีเกษตรจากครรภ์แม่สู่ลูกนั้น ไม่ได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้มีการศึกษาวิจัยแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการการเกษตร กล่าวว่า กระบวนการแบนสารเคมีเกษตร จนออกเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ไม่ชอบและไม่ครอบคลุมตามข้อกฎหมายเท่าที่ควร เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา กรมวิชาการการเกษตรยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเกษตร แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับเร่งรีบลงมติ ขาดความรอบคอบ และไม่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล