ม.หอการค้าไทย ชี้สัญญาณบวกดัชนี SMEs ประจำไตรมาส 4 คาดปรับเพิ่ม ธพว.เดินหน้าเสิร์ฟความรู้คู่สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษหนุนผู้ประกอบการโตส่งท้ายปี

0
1754

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนี SMEs ประจำไตรมาส 3/2562 ปรับลดทุกด้าน แต่มีสัญญาณบวก เชื่อสถานการณ์ธุรกิจไตรมาสสุดท้ายคาดกลับมาขยายตัว ผลจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ลูกค้า ธพว. ดัชนีธุรกิจแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยทุกด้าน เนื่องจากมีกระบวนการพัฒนาเติมความรู้และเสริมการตลาดให้ต่อเนื่อง ระบุเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษรองรับผู้ประกอบการขยายธุรกิจช่วงปลายปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 3/2562 จาก 1,234 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3 ดัชนี ได้แก่ 1.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs (SMEs Situation Index) 2.ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ (SMEs Competency Index) และ 3.ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs (SMEs Sustainability Index) นำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs (SMEs Competitiveness Index)

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 41.5 ปรับตัวลดลง 1.2 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (2/2562) ส่วนคาดไตรมาส 4/2562 เชื่อว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 41.9 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับจากระดับ 36.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.0 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ จากระดับ 48.0 มาอยู่ที่ระดับ 47.0

ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลง 1.0 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 4/2562 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 48.1 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจจากระดับ 40.8 มาอยู่ที่ระดับ 39.6 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. จากระดับ 56.8 มาอยู่ที่ระดับ 56.2

และด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 51.1 ปรับตัวลดลง 0.7จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 4/2562 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 51.4 เมื่อจำแนกลักษณะตามการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีจากระดับ 44.5 มาอยู่ที่ระดับ 43.8 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. จากระดับ 59.1 มาอยู่ที่ระดับ 58.5

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาสที่ 3/2562 พบว่า อยู่ที่ระดับ 46.9 ปรับตัวลดลง 0.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 4/2562 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ลดลงจาก 40.5 มาอยู่ที่ 39.4 ส่วนลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน จาก 54.7 มาอยู่ที่ 53.9

ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านสินเชื่อ ต้องการให้ลดข้อจำกัดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น อาทิ ลดขั้นตอน ลดเอกสาร ปรับลดอัตราดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการให้มีมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการช้อปช่วยชาติ ธงฟ้าราคาประหยัด การกระตุ้นการส่งออก การลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาน้ำมัน เป็นต้น ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เช่น สนับสนุนทุนเทคโนโลยี ช่องทางการค้าแก่ SMEs การอบรมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ด้านการตลาด เช่น กลยุทธ์ส่งเสริมทางด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์/ช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ/ แหล่งตลาดใหม่ๆ ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี ปรับโครงสร้างภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาทิ ภาษีทางการค้า ภาษี รายได้ ภาษีสินค้า/บริการ และด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว อนุรักษ์ธรรมชาติพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพิ่มความสนใจนักท่องเที่ยว

สิ่งสำคัญของผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของ SMEs ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือไตรมาส 4/2562 จะปรับดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาแล้ว และกำลังทยอยออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่ายอย่างคึกคัก ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีให้ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นางจงรักษ์ โปลิตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้า ธพว. ค่าเฉลี่ยดัชนีทุกด้านสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. เนื่องจากธนาคารมีกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการคู่กับการให้สินเชื่อ เช่น อบรมการทำตลาดออนไลน์ บริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ จัดทำบัญชีเข้าสู่ระบบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้ง ช่วยขยายตลาดใหม่เพิ่มยอดขาย เช่น พาออกงานแสดงสินค้าที่ธนาคารจัดขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พาเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง อย่าง Thailandpostmart.com Shopee และ Lazada เป็นต้น และช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของลูกค้าธนาคารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากกระบวนพัฒนาเหล่านี้ ช่วยให้ลูกค้า ธพว. มีศักยภาพ สามารถปรับตัวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ ดังนั้น ธนาคารจะเดินหน้าแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ช่วงไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ SMEs จะขยายตัว ธนาคารได้เตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รองรับให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงธุรกิจ หรือเป็นทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อนิติบุคคล555 วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.479%ต่อเดือน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยถูก นิติบุคคล 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน และบุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน เป็นต้น