มูลนิธิรักษ์ไทยพร้อมด้วย สพฐ. จัดงานประชุมนำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์การรังแก พร้อมแนวทางการแก้ไข ภายใต้โครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

0
1711

เมื่อใน วันที่  14 สิงหาคม 2563 รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.กวินทร์เกียรติ  นนธ์พละ พร้อมด้วย นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมเป็นประธานในงานการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์การรังแก และเสวนาแนวทางแก้ไข ปัญหานักเรียนรังแกกันนภายใต้โครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย สนับสนุนงบประมาณโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

    ซึ่งงานนำเสนอในวันนี้ ดำเนินการวิจัย โดยผศ.ดร. สมบัติ  ตาปัญญา เพื่อทราบสถานการณ์การรังแกในปัจจุบัน โดยจัดเก็บกับกลุ่มเป้าหมายนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 23,787 คน ซึ่งสุ่มจาก 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่นำมาเป็นตัวแทนของนักเรียนในทุกภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน  (ฉก.ชน. สพฐ.) ในกระบวนการสุ่มคัดเลือกโรงเรียน ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์เคยถูกรังแก 40.6 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดอยู่ในเด็กระดับประถมศึกษา กลุ่มที่ถูกรังแกมากที่สุดคือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ มากถึง 58.9 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกรังแกทั้งหมด พฤติกรรมการรังแกที่พบมากคือการล้อเลียน และดูถูกเชื้อชาติ โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้องเรียนช่วงเวลาที่ครูไม่อยู่ การรังแกในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ที่พบบ่อยคือการล้อเลียน และการกีดกันไม่ให้เพื่อเข้ากลุ่ม พบในกลุ่มเด็กมัธยมมากกว่าเด็กประถม แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือของครูพบว่ามีครูที่ลงจัดการแก้ไขการรังแกอยู่ที่ 35.9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ข้อมูลงานวิจัยสถานการณ์การรังแกที่จัดเก็บในครั้งนี้ จะเป็นงานวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้ง เพราะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องมือจัดการแก้ไขปัญหาการรังแก ทั้งในรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบ Face to Face การพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ E-Learning สำหรับนักเรียน และ E-Training สำหรับครู เพื่อเป็นชุดการเรียนรู้แนวทางออกแบบจัดการแก้ไขปัญหาการรังแกในโรงเรียน ซึ่งจะเผยแพร่และเป็นทางเลือกให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 29,871 โรงเรียนได้เรียนรู้ ควบคู่กับนักเรียน เพื่อนำไปสู่การออกแบบพัฒนาแนวทางจัดการ แก้ไขปัญหา และป้องกันการรังแกในโรงเรียนด้วยตนเองได้ รวมทั้งโครงการได้ประสานงานกับสำนักปลัดกระทรวงศึกษา เพื่อการขยายผลไปสู่โรงเรียนในสังกัดการศึกษาเอกชน  สังกัดกรุงเทพมหานคร  และสังกัดกรมการปกครองท้องถิ่น

    ในงานยังมีการจัดการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ “ครูปรับ สังคมปรับ การรังแกไม่ใช่เรื่องปกติ” 

  • ศาสตราจารย์คลินิก พญ.วินัดดา  ปิยะศิลป์   ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  • ผศ.ดร.วิมลทิพย์  มุสิกพันธ์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
  • คุณกวิน  ศิริพานิช เจ้าของ Facebook เพจ นวล

โดยมีสาระสำคัญคือแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงาน ผลักดันประเด็นยุติการรังแกโดยใช้กระบวนการที่ต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกันคือเมื่อครูและสังคมเกิดความตระหนักถึงประเด็นปัญหา เห็นความสำคัญ ร่วมมือกันแก้ไขด้วยความเข้าใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ นำไปสู่การจัดการยุติการรังแก พร้อมแนวทางป้องกัน เสริมพลังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กอย่างแท้จริง

    นอกจากนี้ ภายในงานทางด้านคุณ​      พัชรี รักษาวงศ์ ผู้ประกาศข่าว ได้กล่าวว่า “ในฐานะที่ตัวเองเป็นคุณแม่ลูกสอง เป็นเรื่องที่ดีมากๆที่ทางโครงการได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเราก็เป็นห่วงลูกๆและเด็กรุ่นใหม่ และขอบคุณรักษ์ไทยฯที่ผลักดันเรื่องยุติการรังแกในโลกออนไลน์อย่างจริงจังมาโดยตลอด”