มะเร็งช่องปาก อันตรายหากปล่อยลุกลาม

0
1802

มะเร็งช่องปากเป็นโรคที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มักพบตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ไปยังกระแสเลือด และไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ ดังนั้นการสังเกตตัวเองและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็วคือสิ่งสำคัญที่สุด

พท.นพ.รุตติ ชุมทอง ศัลยแพทย์ด้านศีรษะและลำคอ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า มะเร็งช่องปาก คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในช่องปากหลายๆ อวัยวะ เช่น ริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก และพื้นปากใต้ลิ้น ถือเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและอันตรายหากมาตรวจพบในระยะลุกลาม โดยปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งช่องปาก คือ 1.การสูบบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์จะเพิ่มความเสี่ยงการพบมะเร็งช่องปากได้ถึง 6 เท่า 2.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และหากยิ่งมีพฤติกรรมทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุราก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากถึง 15 เท่า 3.การเคี้ยวหมาก พลู เพราะอาจมีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่ 4.การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในช่องปาก 5.การเกิดบาดแผลเรื้อรังในช่องปากจากฟันผุ ฟันบิ่น หรือฟันปลอมที่หลวม ระคายเคืองซ้ำ ๆ จนเนื้อเยื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง 6.มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก เป็นต้น 

อาการและการเกิดโรค คนไข้อาจมาด้วยอาการมีตุ่ม ก้อนเนื้อ หรือรอยแผลที่รักษาไม่หายนานเกินกว่า 2 – 3 สัปดาห์ อาจพบว่ามีเลือดออกจากรอยแผลนั้น หรือมีอาการชาจากการลุกลามเพราะมะเร็งไปทำลายเส้นประสาท หรือการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง จนสามารถคลำเป็นก้อนได้ที่ลำคอ การสังเกตมะเร็งช่องปากอาจตรวจพบเพียงรอยปื้นแดงหรือขาวบนเยื่อบุช่องปากโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ดังนั้นการมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติในช่องปากจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม 

โรคมะเร็งช่องปาก แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉายรังสี  หรืออาจใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาด ตำแหน่ง ชนิดของมะเร็ง และสุขภาพของผู้ป่วย นอกจากนี้อาจทำเคมีบำบัดในคนไข้บางราย หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่มหรือตั้งแต่เป็นรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous Lesionและได้รับการรักษา มีโอกาสหายขาดและมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงมากกว่าการตรวจพบในระยะลุกลาม นอกจากนี้ โรคมะเร็งช่องปากระยะลุกลามอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะในช่องปาก เช่น ปากผิดรูป ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการพูด การกลืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมการทำงาน และทำกายภาพบำบัดเพื่อคืนการทำงานของอวัยวะในช่องปากร่วมด้วย

European girl with open mouth during a medical examination. The doctor checks the patient’s throat and tonsils with a medical spatula. healthcare and diagnostic concept

ทั้งนี้ การป้องกันโรคมะเร็งช่องปากทำได้โดย ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ดื่มสุราเป็นประจำลง หมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้แข็งแรง เลือกรับประทานอาหารและผักผลไม้ที่มีประโยชน์ให้สมดุล สิ่งสำคัญคือ ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจค้นหาความเสี่ยงและเฝ้าระวังโรคมะเร็งในช่องปากไปพร้อมๆ กัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกมะเร็งศีรษะและลำคอ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โทร. 02-310-3000 หรือโทร.1719