มจธ. จับมือ ธ.เกียรตินาคินภัทร จัดทำคู่มือสร้างรากฐานธุรกิจ  เป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้ SME 

0
1572

  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) ร่วมกับ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดทำ “คู่มือสร้างรากฐาน SME สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน” ในรูปแบบอีบุ๊ค มอบเป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเริ่มตั้งหลักวางรากฐานธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถพลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19  และผ่านพ้นวิกฤติไปได้

ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการเป็นระยะเวลายาวนาน บางธุรกิจต้องปิดตัวลง บางธุรกิจสามารถประคองให้อยู่รอดมาได้แต่อาจจะต้องลดขนาดของธุรกิจเพื่อลดภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา STECO ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งมั่นพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการจับมือกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งมอบองค์ความรู้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เป็นต้น 

“การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรเป็นเป้าหมายที่ทุกธุรกิจต่างให้ความสำคัญ STECO จึงได้จัดทำคู่มือสร้างรากฐาน SME สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยกำหนดเป้าหมายและออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมเพื่อจะช่วยให้องค์กรสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน รวมถึงสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมายืนหยัดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นคู่มือที่กระชับ ภายใต้กรอบแนวคิดที่ไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการสามารถอ่าน ทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้ง่าย โดยได้ร่วมมือกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งมีความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและความต้องการของลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นอย่างดี ในการจัดทำคู่มือดังกล่าว และเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดาวน์โหลดได้ฟรี ทางเว็บไซต์ http://digital.lib.kmutt.ac.th/thesis/loadfile.php?obj_id=47442 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป” ดร.วัชรพจน์ กล่าว 

    คู่มือสร้างรากฐาน SME สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ได้ถูกออกแบบเฉพาะให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ประกอบด้วยรากฐาน 5Ps 1. Purpose ธุรกิจจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป้าหมายที่ดีควรสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า 2. People ธุรกิจจำเป็นต้องคัดเลือกและพัฒนาบุคลากรให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจตามกระบวนการที่ออกแบบไว้ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและเป้าหมายของธุรกิจ 3. Performance ธุรกิจจำเป็นต้องกำหนดการตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของธุรกิจ นำไปสู่การปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4. Process ธุรกิจจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจ ซึ่งกระบวนการทำงานจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการเลือกทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นคนหรือเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับกระบวนการทำงาน 5. Partner ธุรกิจจำเป็นคัดเลือกและพัฒนาความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ 

ทั้งนี้ การที่จะนำรากฐาน 5Ps นี้ไปประยุกต์ใช้ให้สัมฤทธิ์ผล ผู้ประกอบการ SMEs ควรคำนึงถึงหลักคิดในการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิด STECO ได้แก่ S: Strategic Thinking การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นแนวคิดในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม T: Teamwork การทำงานเป็นทีม เป็นการส่งเสริมคุณค่าของความแตกต่างเพื่อร่วมมือกันอย่างมืออาชีพสร้างความสำเร็จในการทำงาน E: Excellence ความเป็นเลิศ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการคิดและทำเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยคุณภาพที่เหนือความคาดหวัง C: Creativity ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการส่งเสริมให้พัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อสามารถบรรลุเป้าหมาย และสามารถสร้างคุณค่าแก่งานได้ O: Open-minded การเปิดใจ เป็นการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงอยู่รอดของธุรกิจเป็นสำคัญ เราเชื่อมั่นว่าเมื่อบูรณาการรากฐาน 5Ps เข้ากับแนวคิด STECO แล้ว ผู้ประกอบการจะมีเครื่องยนต์ที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

สำหรับผู้สนใจรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรือต้องการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการองค์กรหลังสภาวะวิกฤติเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กร สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://steco.kmutt.ac.th  หรือติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-470-9644 หรือ e-mail: steco.edu@mail.kmutt.ac.th  

กี่ยวกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งครอบคลุมถึงบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด โดยธนาคารมีวิสัยทัศน์ในการนำทรัพยากรทางการเงินสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง พอเพียง และทั่วถึง ด้วยการบริการที่เหนือความคาดหมาย และไม่อาจหาได้จากแหล่งอื่น   

ทั้งนี้ ธุรกิจของธนาคารครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนเชื่อมโยงกับธุรกิจด้านตลาดทุน ที่ประกอบด้วยธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) และธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com     

เกี่ยวกับศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (Center for Strategy and Enterprise Competitiveness หรือ STECO) 

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ภายใต้คำมั่นสัญญา “ความสำเร็จของคุณ ความมุ่งมั่นของเรา” ด้วยภารกิจหลัก ได้แก่ การวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การให้คำปรึกษาทางด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ การพลิกฟื้นธุรกิจสู่ความยั่งยืน และการพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถสร้างและขับเคลื่อนปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันองค์กรได้ นอกจากนี้ STECO ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา STECO ได้ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจหลังวิกฤติ โควิด-19 สู่ความยั่งยืน และกิจกรรม STECO Online Forum ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ คณาจารย์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://steco.kmutt.ac.th