ฟิลิปส์เผยผลสำรวจ Future Health Index 2020 พบบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค พร้อมปรับตัวในยุคโควิด-19

0
1442

รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เผยผลสำรวจดัชนีสุขภาพ Future Health Index: FHI 2020 จากการศึกษาวิจัยใน 15 ประเทศ พบว่า บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเททำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อพัฒนาวงการเฮลท์แคร์ในยุคการระบาดของโควิด-19 พร้อมให้ความสำคัญกับประสบการณ์การทำงานและความท้าทายในการปฏิรูปวงการเฮลท์แคร์

ผลสำรวจฉบับนี้ได้จัดทำเป็นปีที่ 5 แล้ว แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกของโลกกับการสำรวจและเก็บข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี โดย Future Health Index (FHI) 2020 ได้ศึกษาวิจัยในหัวข้อ “The age of opportunity: Empowering the next generation to transform healthcare” เพื่อสะท้อนภาพความเป็นจริงของระบบสาธารณสุขในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 3,000 คน จาก 15 ประเทศทั่วโลก

การสำรวจนี้ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางวงการเฮลท์แคร์ของประเทศพวกเขาในอนาคต ผลการศึกษาเผยให้เห็นถึงทัศนคติและความเชื่อที่ดีต่อการทำงานของพวกเขา รวมถึงช่องว่างระหว่างการฝึกอบรมทางการแพทย์กับการปฏิบัติงานจริง และความคิดแง่บวกต่อดิจิทัล เฮลท์แคร์ ในโลกอนาคต จากการสำรวจติดตาม  เป็นเวลาหลายเดือน ยิ่งตอกย้ำต่อมุมมองของพวกเขาให้ชัดเจนขึ้นจากประสบการณ์ในการรับมือกับโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

Future Health Index 2020 รายงานถึง 3 ประเด็นสำคัญที่พบ ดังต่อไปนี้:

  • บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ ทุ่มเทและเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากขึ้น

เมื่อเริ่มมีการระบาดของ โควิด-19 ร้อยละ 82 ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า พวกเขายังคงพึงพอใจในงานที่ทำถึงแม้จะต้องรักษาผู้ป่วยมากขึ้นต่อสัปดาห์ (เฉลี่ยประมาณ 103 คน) ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากกว่าในสหรัฐอเมริกา (ประมาณ 99 คน) และในประเทศเนเธอร์แลนด์ (ประมาณ 65 คน) ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ทำให้ร้อยละ 34 ของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด เผชิญภาวะความเครียดในการทำงานและมีความคิดที่จะเปลี่ยนงาน ในขณะที่ร้อยละ 45 ของบุคลากรทางการแพทย์ในซาอุดิอาระเบีย และร้อยละ 46 ในสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่ามีความคิดที่จะออกจากวิชาชีพ  

ในช่วงหลายเดือนของการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อประสบการณ์กาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่อย่างน่าแปลกใจ โดยในรายงาน Future Health Index Insight พบว่า ร้อยละ 57 ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในสิงคโปร์ยังคงมุ่งมั่นและมีความคิดบวกต่อการทำงาน จากประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับในช่วงเวลานี้ ทำให้พวกเขารู้ซึ้งถึงจุดหมายในการทำงานมากขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 39 จากการสำรวจใน 5 ประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์ได้รับความชื่นชมจากผู้ป่วยเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 64 ในสิงคโปร์ เทียบกับค่าเฉลี่ยร้อยละ 47 จากการสำรวจใน 5 ประเทศ) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประสบการณ์ทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในสิงค์โปร์ ร้อยละ 68 ก็ยังคงยืนยันว่าจะทำงานในวงการแพทย์ต่อไป ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในอเมริกามีเพียง ร้อยละ13 และในเยอรมนี มีเพียงร้อยละ 23 ที่มีแนวคิดเช่นนี้ เนื่องด้วยประเทศในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญและมีการลงทุนพัฒนาในด้านดิจิทัล เฮลท์แคร์ บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้จึงเชื่อมั่นในศักยภาพทางด้านข้อมูลและเทคโนโลยี ที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาการทำงานของพวกเขา และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้

บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ยังเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวงการเฮลท์แคร์ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยประมาณ 9 ใน 10 ของบุคลากรทางการแพทย์ (ร้อยละ87) มีความเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพที่เหมาะสม มีศักยภาพที่จะช่วยลดภาระงานของพวกเขาได้ ในขณะที่ร้อยละ77 กล่าวว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วย และร้อยละ 76 กล่าวว่าการใช้เทคโนโลยีสามารถช่วยลดความตึงเครียดในการทำงานได้ 

  • ช่องว่างที่มีอยู่เกี่ยวกับความคาดหวังและประสบการณ์ในการทำงานของแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทุ่มเทให้กับการดูแลรักษาผู้ป่วยและมีความเชื่อมั่นในงานที่ทำ แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พวกเขา (ร้อยละ 42) ยังมีความกังวลเกี่ยวกับช่องว่างทางทักษะที่พวกเขาต้องเจอในการทำงานจริง เมื่อเทียบกับความคาดหวังในขณะที่พวกเขาศึกษาด้านการแพทย์ อีกทั้งความเครียดในการทำงาน ยังส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้ถึงร้อยละ 73  รู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์

นอกเหนือจากการพัฒนาของ ดิจิทัล เฮลแคร์ แล้วบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังรู้สึกไม่พร้อมเมื่อต้องรับมือกับข้อมูลจำนวนมาก ประมาณครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 47) กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาด้านการแพทย์ที่พวกเขาเรียนมาเตรียมความพร้อมให้พวกเขาได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น และไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับงานด้านข้อมูล เช่น การวิเคราะห์และการตีความข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 51 ยังกล่าวว่า พวกเขาได้รับการฝึกอบรมในด้านนี้ขณะที่ทำงานหรือฝึกงานในโรงพยาบาล จึงพอจะช่วยลดช่องว่างด้านทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลได้

อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ56) ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่าพวกเขาสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานและการจัดการในโรงพยาบาลที่พวกเขาทำงานอยู่ ในขณะที่อีกกลุ่มกลับรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ถึงร้อยละ 48 รู้สึกว่าข้อเสนอและความคิดเห็นของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนอง รับฟังหรือยอมรับ นอกจากนี้การตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ยังส่งผลด้านลบต่อบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้ถึงร้อยละ 30 และส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของพวกเขาด้วย

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่หลายคนยังกังวลว่าจะไม่สามารถรับมือกับความต้องการของระบบการดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และภาระงานด้านการจัดการที่มีมากขึ้น เช่น การทำเอกสารเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ และการเพิ่มขึ้นของการดำเนินคดี/ การเปิดเผยทางกฎหมาย เป็นสองประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้ (ร้อย38 และร้อยละ48 ตามลำดับ)

  • เสริมศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในเอเชียแปซิฟิก

แม้จะเผชิญกับความท้าทาย แต่การศึกษาของ FHI ยังระบุถึงความต้องการที่ชัดเจนของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ที่ต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมความร่วมมือกันและมีความยืดหยุ่น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงาน และการเปิดรับเอาเทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระในการทำงาน รวมถึงการผลักดันด้านการมีส่วนร่วม  จากการสำรวจปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่ทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ มีการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย (ร้อยละ69) มีอำนาจในการตัดสินใจ (ร้อยละ65) มีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน (ร้อยละ65) และมีความสมดุลระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว หรือ work-life balance (ร้อยละ71)

แคโรไลน์ คลาร์ค ประธานกลุ่มธุรกิจ ฟิลิปส์ อาเซียน แปซิฟิก กล่าวว่า “ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงวงการเฮลท์แคร์ในอนาคต แต่พวกเขาหลายคนยังรู้สึกว่าความคิดเห็นของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ พวกเขาต้องพบกับอุปสรรคในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางคลีนิกในเชิงปฏิบัติ และต้องเผชิญความเครียดจากการอุทิศตนเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การระบาดของโควิด-19  ทำให้เห็นถึงช่องว่างและโอกาสในการเปลี่ยนแปลงวงการเฮลท์แคร์ ที่สำคัญ คือ การสร้างและจัดเตรียมแพลตฟอร์ม และการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานอย่างเพียงพอ  เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบัน เพื่ออนาคตของวงการเฮลท์แคร์ที่ดีขึ้น”

นับตั้งแต่ปี 2559 ฟิลิปส์จัดทำการสำรวจ เพื่อระบุถึงความพร้อมของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลก และช่วยสร้างระบบเฮลท์แคร์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย Future Health Index methodology และการเข้าถึงรายงาน Future Health Index 2020 ฉบับเต็ม ซึ่งจะเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย โควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ Future Health Index