ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระดมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสาธารณสุข-โรงพยาบาล-ร้านขายยา ร่วมถกประเด็นบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เร่งกระจายไปในโรงพยาบาล พร้อมเสนอมาตรการควบคุมการถือครอง และเดินหน้าติดตามสถานการณ์ขายสินค้าราคาแพงทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวการประชุมคณะทำงานวอร์รูม (War Room) เพื่อประเมินสถานการณ์และหารือแนวทางแก้ไขหน้ากากอนามัยขาดแคลน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สมาคมร้านขายยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยจำนวนที่ผลิตได้ทั้งสิ้นเดือนละ 38 ล้านชิ้น จากโรงงานผู้ผลิตจำนวน 11 แห่ง
ทั้งนี้ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นมากถึง 4-5 เท่าจากความต้องการปกติ จึงได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยจัดตั้งศูนย์การกระจายและบริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนจากกลุ่มโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดท้องถิ่น และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยไปให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องแล้วจำนวน 7.2 ล้านชิ้น โดยเกือบครึ่งจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลของรัฐ เนื่องจากบุคลากรทางแพทย์มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ ไปจนถึงร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อทั่วไป ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมรถธงฟ้าโมบาย การจำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบเคลื่อนที่ สำหรับพื้นที่ที่หาซื้อลำบาก
นอกจากนี้จะนำเสนอมาตรการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้พิจารณากำหนดมาตรการออกประกาศห้ามบุคคลใดกักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย โดยมีหน้ากากอนามัยไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 30 เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าไม่ให้อยู่ในมือผู้ใดผู้หนึ่งมากเกินสมควร ซึ่งคณะกรรมการกลางจะเป็นผู้กำหนดปริมาณความเหมาะสมในการถือครองของบุคคลทั่วไป ร้านขายยา นิติบุคคลอื่น ๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
ในส่วนของมาตรการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัย ปัจจุบันมีการดำเนินคดีแล้ว 59 ราย แบ่งเป็น จำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร 38 ราย ไม่ติดป้ายแสดงราคา 21 ราย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเป็นร้านค้าออนไลน์ 5 ราย ซึ่งจะเข้มงวดในส่วนของติดตามสถานการณ์การจัดจำหน่ายต่อไปทั้งในส่วนของออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของการล่อซื้อ สำหรับในส่วนของออนไลน์จะขอความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสืบค้นและดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายสินค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าอิสระบนโซเซียล มีเดีย หรือผู้ขายบนแพลตฟอร์ม อี-อี-คอมเมิร์ซ โดยเจ้าของแพลตฟอร์มก็อาจเข้าข่ายกระทำผิดข้อกฎหมายในการจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรและอาจถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างดีที่สุด เพื่อให้มีการกระจายตัวของสินค้าหน้ากากอนามัยได้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยพิจารณาใช้หน้ากากผ้าที่สามารถซักแล้วใช้ใหม่ได้ เพื่อลดความต้องการสินค้าหน้ากากอนามัยลง
###