พลิกผืนดินให้เขียวชอุ่ม สร้างอาชีพ ดึงแรงงานกลับถิ่น คืนสุขให้ชุมชน บทพิสูจน์ความมุ่งมั่น ตั้งใจแก้วิกฤติน้ำแล้งน้ำท่วม ของผู้นำไม่มีตำแหน่ง    

0
971

  ในยุคที่ทุกคนเท่าเทียมกัน บทบาทของ “ผู้หญิง” จึงไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นเพียงแม่บ้านเลี้ยงลูกอีกต่อไป เราจึงได้เห็นผู้หญิงมากมายกลายเป็นฮีโร่นอกบ้าน ใช้พลังหญิงพัฒนาชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม “รัตนาภรณ์ ลือฉาย” ผู้ประสานงานคณะกรรมการน้ำชุมชนจุมจัง ผู้หญิงที่ไม่มีตำแหน่งใด ๆ แต่เธอสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนในชุมชนเห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใช้พลังในการพลิกผืนดินอีสานที่แล้งซ้ำซากมานานปี ให้มีน้ำ มีความเขียวชอุ่ม ทำให้ 700 ครัวเรือน 3,000 ชีวิต มีอาชีพสร้างรายได้ ไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น รอดพ้นความจน คืนความสุขให้ชุมชนอีกครั้ง 

ชุมชนจุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นผืนดินที่แล้งซ้ำซากมานานปี ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เช่นเดียวกับผืนดินอื่น ๆ ในภาคอีสาน แม้การที่คนหนุ่มสาววัยทำงานต้องทิ้งครอบครัว พ่อแม่ทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตาเลี้ยง อพยพไปรับจ้างขายแรงงานต่างถิ่น เมื่อเสร็จฤดูทำนา จะเป็นภาพที่คุ้นชิน แต่ “รัตนาภรณ์” มองว่า นี่เป็นหนึ่งปัญหาทางสังคมที่ไม่อาจปล่อยผ่าน เธอจึงไม่ยอมแพ้พยายามคิดหาหนทางแก้ไข เพื่อให้ครอบครัวในชุมชนมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา

“ปัญหาเรื่องน้ำมาถึงรุ่นเราจะรู้เลยว่า แล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซาก ถ้าเสร็จจากฤดูทำนา เขาก็เข้ากรุงเทพฯ ไปหมดแล้ว ไม่ไปไม่ได้ มองแล้วก็คิดว่า มันไม่มีทางอื่นแล้วเหรอที่แก้ปัญหาตรงจุดนี้ ตอนนั้นมีคนสบประมาทว่าจะทำให้เหนื่อยทำไม ผู้ใหญ่บ้านก็ตายไปหลายคนแล้ว เราไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นแค่ประธานสตรีในหมู่บ้าน เป็นแค่คณะกรรมการหมู่บ้านเฉย ๆ แถมเป็นผู้หญิงตัวแค่นี้ ทำไม่ได้หรอก ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะทำคนเดียวสำเร็จ เมื่อเรามีปาก มีความคิด มีคนรู้จัก เราเอาตรงจุดนี้ดึงออกมาใช้ แล้วทำอย่างไรเราถึงจะสามารถสร้างอย่างอื่น ทำอย่างอื่นได้ บอกเลยว่าถ้ามีน้ำก็มีชีวิต จุดสำคัญก็คือต้องมีน้ำ ถ้ามีน้ำแล้วมันจะสามารถมีอยู่มีกิน ได้ปลูกทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีน้ำก็จะอยู่ได้”

เมื่อพบว่า “น้ำ” คือกุญแจสำคัญที่จะใช้ปลดล็อกแก้ปัญหา “รัตนาภรณ์” ไม่รีรอที่จะเริ่มต้นลงพื้นที่ตามไปดูชุมชนที่ประสบความสำเร็จว่าเขาทำอย่างไร ทำไมชุมชนอื่นแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ทำไมชุมชนจุมจังทำไม่ได้ พยายามศึกษาเรียนรู้ถึงกระบวนจัดการต่าง ๆ เพื่อจะนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง เธอไม่เพียงนำความรู้มาปรับปรุงแหล่งน้ำในชุมชน ทำฝาย ขุดลอกร่องน้ำ แต่ยังเป็นมือประสานสิบทิศ ดึงงบประมาณและประสานความร่วมมือจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นโครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ว หรือหน่วยงานต่าง ๆ จนทำให้ในชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ชวนกันทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลุกพลังชาวบ้านในชุมชนให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง 

บุญสุข ศิรินุพงค์ คณะกรรมการน้ำชุมชนจุมจัง สะท้อนให้ฟังว่า “เขาเก่งมาก มีความสามารถเชื่อมกับหน่วยงานที่มีงบประมาณได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเอสซีจี องค์กรน้ำชุมชน มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขาก็ประสานมา เขาสามารถดึงงบประมาณเข้ามาในชุมชนเราได้”

ขณะที่ สายัญ โสระธิวา ครัวเรือนต้นแบบทฤษฎีใหม่ บอกว่า “แต่ก่อนมันเป็นไปไม่ได้ พื้นที่มันโล่งไปหมด แล้วจะเอาน้ำมาเก็บตรงไหน แต่ทุกวันนี้มันเป็นไปได้แล้ว”

วันนี้ชาวชุมชนจุมจัง จากที่เคยอยู่ไม่รอดถ้าไม่มีเงิน พลิกฟื้นผืนดินจนรอดแล้ง รอดจน อยู่ดีมีสุข ไม่ว่าจะเป็นโควิด19 หรือเป็นอะไร ต้องทำให้กักตัวอยู่เป็นเดือน ชาวชุมชนก็สามารถอยู่ได้ เพราะมีน้ำ มีความรู้ มีพืชผักในครัวเรือนสามารถนำมาแปรรูปอาการกินได้     

“มีน้ำแล้วก็ปลูกได้ทั้งปี ได้กิน ได้ขาย ได้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน วันนี้ภูมิใจมาก ๆ ที่เราสามารถทำได้ ทำให้คนในชุมชนเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ทำเพื่อลูกหลานเรามีอยู่มีกิน จากบางครั้งที่เขาด่าเรา แต่มาถึงในวันนี้เขามีรอยยิ้มคืนมาให้กับเรา ก็ดีใจแล้วนะ เกิดมาชาตินี้คุ้มแล้ว เพราะว่าเราทำจริง ไม่ได้แค่พูด เป็นผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่าง เรื่องการพัฒนา แม่คิดว่ามันไม่เหลือบ่ากว่าเรื่องที่เราจะทำ พัฒนาได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน มันอยู่ที่ใจของคนที่จะทำแค่นั้น”