พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ โชว์ศักยภาพอาณาจักรบางกอกฟรีเทรดโซน ปิดดีลผู้เช่าใหม่ปี 2566 เกินเป้าทะลุ 200,000 ตร.ม. ชูอัตราเช่าแกร่งมากกว่า 90% มาแรงรับการลงทุนต่างชาติ

0
357

พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ (PD) ในเครือ บมจ.มั่นคงเคหะการ ผู้พัฒนาและบริหารโครงการคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone: BFTZ) ประกาศข่าวดีส่งท้ายปี 2566 เซ็นสัญญาลูกค้าใหม่พื้นที่เช่ารวมกันกว่า 200,000 ตร.ม. ใน 7 โครงการ เกินความคาดหมาย จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 150,000 ตร.ม. โดยโครงการที่ได้รับความสนใจจากผู้เช่าอย่างล้นหลามได้แก่ โครงการ BFTZ 3 ถ.บางนา-ตราด กม.19 และ โครงการ BFTZ 4 บางปะกง ทั้ง 2 โครงการมีจุดแข็งสำคัญด้านศักยภาพของพื้นที่เขตปลอดอากร หรือ Free Zone ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีการนำเข้า-ส่งออก

ผลตอบรับครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความต้องการใช้งานคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าพื้นที่ บางนา-ตราด ไม่เคยลดลง อีกทั้งพื้นที่ EEC ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ประกาศพร้อมเดินหน้าเต็มสูบขยายโครงการใหม่รองรับดีมานด์ลูกค้าทุกอุตสาหกรรม

นางสาวรัชนี มหัตเดชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กล่าวว่า “ปี 2566 ถือเป็นปีที่ พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ มาแรงและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการขยายโครงการล่าสุด BFTZ 7 ถ.บางนา-ตราด กม.10 ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนงาน แต่สามารถเติมผู้เช่าชั้นนำในกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์และธุรกิจอื่น ๆ เต็ม 100% เป็นที่เรียบร้อยภายใน 1 ปี ความสำเร็จของทุกโครงการเกิดขึ้นบนรากฐานที่มั่นคงของบริษัท ทั้งทำเลยุทธศาสตร์ มีพื้นที่ Free Zone และบริการ One Stop Service ครบวงจร ประกอบกับความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอาคารสำเร็จรูปแบบ Ready Built คุณภาพเกรด A ที่ทยอยก่อสร้างช่วงโควิด ภายหลังเปิดประเทศจึงขยายโครงการและเซ็นสัญญาผู้เช่ารวดเร็ว รองรับความต้องการของลูกค้าให้พร้อมใช้งานได้ทันที

เนื่องจากปัจจุบัน อินไซต์ของนักลงทุนต่างชาติจะตัดสินใจเช่าเร็วขึ้น เมื่อเข้ามาดูพื้นที่โครงการจริงแล้วสนใจ จะตกลงเซ็นสัญญาทันที เพราะหากยืดระยะเวลาออกไปอาจไม่มีที่เช่าในทำเลที่ต้องการหลงเหลืออยู่ โครงการที่ปิดดีลพื้นที่เช่ามากที่สุดจะเป็น โครงการ BFTZ 3 ถ.บางนา-ตราด กม.19 พื้นที่เช่ารวมของลูกค้าใหม่ประมาณ 50,000 ตร.ม. รองลงมา ได้แก่ โครงการ BFTZ 4 บางปะกง และ โครงการ BFTZ 5 วังน้อย ขณะเดียวกันยังอยู่ในระหว่างเจรจาสัญญาอาคาร Built-to-Suit อยู่อีก 2-3 ราย”

ภาพรวมตลอดปี PD ทำผลงานได้โดดเด่น ผุดโครงการใหม่ในทำเลเดิมบางนา-ตราด พร้อมเสริมความแข็งแกร่งขยายไปยังจุดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์อย่าง บางปะกง และ วังน้อย ตอกย้ำตำแหน่งตัวจริงของวงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม ด้วยอัตราการเช่าเฉลี่ยรวมทุกโครงการ (Occupancy Rate) สูงกว่า 90% และรักษาฐานลูกค้าเดิมได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านอัตราการต่อสัญญา (Renewal Rate) ปี 2566 แตะระดับ 90% ดันกราฟพุ่งต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมา

ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีประเมินว่า การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจคลังสินค้ายังได้ปัจจัยบวกจากภาคท่องเที่ยว (คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยที่ระดับ 42 ล้านคน ภายในปี 2568) ช่วยกระตุ้นความต้องการอุปโภคบริโภคสินค้า ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิต โลจิสติกส์และการลงทุนในประเทศ สำหรับพื้นที่เช่ารวมทุกโครงการภายใต้การจัดการของ PD ประมาณ 1,000,000 ตร.ม. ขณะนี้มี 2 จาก 7 โครงการที่มีผู้เช่าเต็ม 100% ไฮไลต์โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่าง โครงการ BFTZ 4 บางปะกง พื้นที่เช่า 200,000 ตร.ม. เป็นโครงการเดียวของบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ EEC เริ่มลงเสาก่อสร้างเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้าเซ็นสัญญาจองพื้นที่ต่อเนื่องแม้ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทจะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า ซึ่งกลุ่มธุรกิจของลูกค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจอาหาร, ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ สำหรับประเภทอาคารที่ได้รับความนิยมภายในโครงการ BFTZ 4 จะเป็นอาคารโรงงาน เพราะตั้งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรรม ดังนั้นกลุ่ม Supplier ในสายการผลิตจึงกระจายมาเช่าอาคารในโครงการใกล้เคียง

“เป้าหมายต่อไป เราจะเดินหน้าเร่งก่อสร้างโครงการที่กำลังพัฒนาให้แล้วเสร็จ ไปพร้อมกับการขยายโครงการใหม่บนทำเลศักยภาพที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อรองรับดีมานด์ลูกค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แนวโน้มธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด คาดว่าจะยังมีผู้ประกอบการต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้ามาขับเคลื่อนตลาด Industrial Property ให้คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศจีน ที่เริ่มขยายฐานมายังประเทศไทย ทำให้เรามีโอกาสต่อไปในอนาคต อีกส่วนที่เห็นภาพชัดเจน คือ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อธุรกิจ EV บูม กลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะได้รับอานิสงค์ตามมา รวมถึงชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ แบตเตอรี่ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารเองก็นิยมมาใช้พื้นที่ในโครงการ BFTZ 1 ถ.บางนา-ตราด กม.23 เช่นกัน ด้วยทำเลที่เอื้อต่อการขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่โดดเด่นทำให้รองรับธุรกิจอาหารได้เป็นอย่างดี” นางสาวรัชนี กล่าวปิดท้าย