วันที่ 20 ก.พ. 2566 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมส่งเสริมคุณภาพอากาศในอาคาร และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและขับเคลื่อนชุมชนเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างยั่งยืน” เพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมร่วมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือของไทย
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก จากข้อมูล WHO พบว่า มีประชาชนที่ต้องเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั้งในบรรยากาศและในครัวเรือนทั่วโลก ปีละประมาณ 7 ล้านคน โดยฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งปอด สำหรับไทย พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จากฐานข้อมูลสุขภาพของ สธ. พบว่า
ตั้งแต่ ม.ค.2566 เป็นต้นมา มีการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ สอดคล้องกับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ สสส. สานพลังกับ กรมอนามัย เปิดตัว “ห้องปลอดฝุ่น” เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 โดยเริ่มสร้างต้นแบบที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง และจะขยายความร่วมมือดำเนินการในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศต่อไปอื่นๆ ต่อไป
“ห้องปลอดฝุ่น (Clean air Shelter) เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดโอกาสการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในอาคารในภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ โดยมีตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ซึ่งใช้ห้องปลอดฝุ่นเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มเปราะบางให้ได้รับบริการในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย (Environmental Health Service) ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ (Health inequity) และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ” นายชาติวุฒิ กล่าว
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สธ.ได้ยกระดับปฏิบัติการเพื่อดูแลและคุ้มครองสุขภาพประชาชน หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การผลักดันให้มีห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูง มีหลักการคือ “กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นภายในห้อง และดันฝุ่นออก” ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในที่อยู่อาศัยและสถานที่สาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ควรต้องมีห้องปลอดฝุ่น เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของปอดและคุณภาพชีวิตในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีเด็กอายุ 0 – 6 ปี กว่า 2.6 ล้านคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากฝุ่น PM2.5 กรมอนามัย จึงดำเนินร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นเพื่อป้องกันและผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยง พัฒนาแนวทางและสร้างต้นแบบห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ร่วมกับกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา แกนนำชุมชน สมาคม และภาคเอกชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการจัดทำห้องปลอดฝุ่น แนวทางการขับเคลื่อนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและร่วมจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO Thailand) กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ไทยเป็นประเทศที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการรับมือกับมลพิษทางอากาศ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ทั้งการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย การปรับปรุงค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศที่คำนึงถึงสุขภาพ และการสื่อสารสร้างความรอบรู้ในระดับชุมชน ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ซึ่งในปีนี้ WHO ร่วมกับกรมอนามัย รวบรวมและเผยแพร่ต้นแบบ (Best Practice) ทั้งนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและแนวทางการขับเคลื่อนชุมชน ที่มีการจัดการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ประเทศอื่นๆ ต่อไป