ผู้นำการศึกษาเสนอ 6 จินตภาพใหม่เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก กรุงเทพฯ และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) แสดงวิสัยทัศน์ถึงระบบการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้นและยั่งยืน ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3

0
105


“จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน” เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ซึ่งจัด โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก กรุงเทพฯ และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 260 คน ณ สถานที่จัดงาน ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำเยาวชน พร้อมกับผู้เข้าร่วมอีกกว่า 3,000 คนผ่านทางออนไลน์ เพื่อเน้นโอกาสการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น การพัฒนาทักษะสำหรับทุกคน และความร่วมมือระดับนานาชาติ


นางมารีนา ปาทรีเย รองผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้แนวทางที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ที่มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้นและทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยกล่าวว่า “ในโลกที่เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น” พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อเสนอแนะของครูในการพัฒนานโยบายที่เป็นนวัตกรรม
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกล่าวว่า “เราต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เรามีร่วมกัน” พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อวาระความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาค

การประชุมยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน นางสาวนูรฮายาตี สุลตาน ผู้ก่อตั้งร่วมและผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเยาวชนและ ความรู้ด้านดิจิทัล เครือข่าย Rohingya Maìyafuìnor Collaborative Network ได้กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยถูกกันออกจากระบบการศึกษา และอยากขอเรียกร้องให้พวกเขามีสิทธิในการสามารถเข้าถึงการศึกษา นอกจากนี้ นางสาวนดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงความท้าทายเฉพาะที่เยาวชนจากชุมชนมุสลิมยากจนในจังหวัดปัตตานีเผชิญ โดยเสนอให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้กำกับนโยบายด้านการศึกษา สู่การหาทางออก

การรับฟังมุมมองของเยาวชนได้สะท้อนในคำกล่าวของ นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ซึ่งได้สรุปถึงนโยบายที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้ทางดิจิทัลที่ครอบคลุม การลงทุนในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิต การศึกษาที่เน้นทักษะ และส่งเสริมการพัฒนาครู
หัวข้ออื่น ๆ ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ได้แก่ ความสำคัญของการเรียนรู้โดยมีนวัตกรรมตัวแบบและมีความยืดหยุ่น การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น และการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

นายจอห์น อาโนลด์ เซียนา รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ด้านการพัฒนาโครงการและกิจกรรม ได้เน้นว่า การลงทุนในด้านการศึกษาควรมุ่งเน้นในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เพราะ “การใช้เทคโนโลยีสามารถปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กที่ถูกกันออกไปได้อย่างมีนัยสำคัญ” และกล่าวว่า “การเสริมสร้างพลังให้ชุมชนด้วยการสนับสนุนตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าวิธีการแก้ไขปัญหาจะครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน”
นายจาฮโย ปรีฮาดี ผู้อำนวยการฝ่ายติดตามและประเมินผล Programme Management Office of Prakerja กระทรวงการประสานงานด้านเศรษฐกิจของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพผลลัพธ์ของโครงการ โดยกล่าวว่า “การลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องอาศัยแนวทางที่ครอบคลุมและมุ่งเน้นเยาวชนและประชากรวัยแรงงานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการเรียนรู้”


ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวในที่ประชุมนี้ว่า “การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการระดมความร่วมมือ บทเรียน และประสบการณ์จากทุกองค์กรประเทศต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้มีการฟื้นฟูระบบการศึกษาให้มีการปรับตัวส่งเสริมให้มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคตมากขึ้น ผ่านความร่วมมือการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ให้เกิดความอย่างยั่งยืนด้วยปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education)”
การประชุมนานาชาติครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบการศึกษาที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีข้อสรุปสำคัญคือ

  1. การเข้าถึงการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องมอบโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือความท้าทายใด ๆ
  2. หลักสูตรการศึกษาควรสอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริงและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอาชีพในอนาคต
  3. เพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพครู เครื่องมือ และทรัพยากร
  4. การกระจายอำนาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
  5. รัฐบาลควรเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงช่องว่างของนโยบายเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  6. การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2573

การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ในปีพ.ศ. 2564 โดยสามารถติดตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์การประชุมที่ https://afe2024.eef.or.th/

เกี่ยวกับพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA)
EEA ก่อตั้งขึ้นโดยสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ (ยูเนสโก กรุงเทพฯ) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในปีพ.ศ. 2563 ในช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 โดยมีเป้าหมายในการรวมตัวกันของรัฐบาล ภาคประชาสังคม และพันธมิตรภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาลดช่องว่างความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และร่วมกันสนับสนุนระบบการศึกษาที่ครอบคลุมมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบัน EEA ประกอบด้วย 19 ประเทศ และ 23 องค์กรในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 จัดโดย กสศ. และ ยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย กลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ภาคีอื่นของการประชุมนี้ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา กัมพูชา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี Programme Management Office of Prakerja กระทรวงการประสานงานด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สมาคมการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาผู้ใหญ่แห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกใต้ และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี