พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวแสดงความชื่นชมการทำงานของ รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ ขณะลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 1 ใน 13 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ขั้นพัฒนา และจะขอรับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ในปี 2568 นี้
“วันนี้เราเห็นแล้วว่ารพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ มีการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ มีการประสานเชื่อมโยงกับสถานพยาบาลและเครือข่ายทุกระดับ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้เสียสละทุ่มเท พัฒนาระบบงานคุณภาพตามมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ มีการเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายอย่างชัดเจน มีการจัดการภาวะโรคที่มีผลต่อสุขภาวะของประชาชนที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน ผ่านกระบวนการ “รู้เรื่องเรา เข้าใจหลัก รักประชาชน” ก่อให้เกิดผลลัพธ์ บริการสุขภาพที่ดีและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย และบุคลากร ปี 2567 ที่ผ่านมา สรพ.ได้ให้การรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลไปแล้ว จำนวน 53 แห่ง แบ่งเป็นการรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตนครชัยบุรินทร์ จำนวน 46 แห่ง และในจังหวัดสกลนคร จำนวน 7 แห่ง”
ด้าน นพ.โกวิทย์ แหยงกระโทก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงการทำงานในบทบาทของเครือข่ายศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (HACC – นครชัยบุรินทร์) และในฐานะรองนายแพทย์ สสจ. ที่ร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานปฐมภูมิว่า “ปัจจุบันแพทย์จะทำงานภายในโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะสุขภาพไม่ได้หมายความว่าแค่ไม่ป่วยอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสุขภาพด้านการส่งเสริมป้องกัน ถ้าเราไม่ดึงชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล คนไข้แออัด รวมทั้งค่ารักษาที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ถ้าเราสามารถทำงานที่เชื่อมกับชุมชนได้ ดีที่สุดก็คือ รพ.สต.หรือศูนย์ ศมอ. ศูนย์สุขภาพหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดในชุมชน และการเป็นแพทย์ก็สามารถทำงานเชื่อมกับชุมชนได้หากได้ไปเยี่ยมบ้านกับอสม. ได้ไปเยี่ยมบ้านกับผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย
ทั้งนี้ในฐานะที่ตัวเองเป็นแพทย์ พยายามผลักดันให้เกิดแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มาเป็นพี่เลี้ยง เป็นตัวปิดช่องโหว่ระหว่างส่วนที่ยังขาดมาตรฐาน เราจะไป Empowerment หรือให้อำนาจและความรับผิดชอบในการตัดสินใจและการปฏิบัติการแก่บุคลากร เพราะบทบาทของเรานอกจากเรามีวิชาการแล้ว เราจะมีทักษะในการ approach หรือการเข้าสู่ชุมชน จุดนี้แหละจะเป็นจุดที่มีการทํางานเป็นองค์รวมร่วมกับชุมชน ทําให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ถ้าเรามีการทํางานเชิงมาตรฐาน ที่ รพ.สต. ใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานสถานบริการระดับปฐมภูมิ ในเขตเมือง เขตชนบท ในเขตห่างไกลต้องมีความเท่าเทียมกัน ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ต่อไปประชาชนก็จะอยากไป รพ.สต. มากกว่าโรงพยาบาลในเมือง เพราะว่าพื้นที่กว้างขวาง รักษาตั้งแต่ใกล้บ้านใกล้ใจและเป็นองค์รวม
ดร.พงษ์พิพัฒน์ ชุ่มสีดา สาธารณสุขอำเภอบัวใหญ่ กล่าวว่า บทบาทของสาธารณสุขอําเภอ คือมาช่วยเติมเต็มช่วยสนับสนุนงานที่เกินที่ทาง รพ.สต. จะรับไหว จึงต้องใช้กลไกในระดับอําเภอ หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ เป็นการรวมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานด้วยกัน ทั้งภาคราชการ ประชาชน เอกชน และท้องถิ่น เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งชุดนี้มีทั้งหมด 21 คน ลำดับแรกคือ การสร้างให้ทุกคนเห็นความสําคัญในเรื่องของมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA โดยอําเภอบัวใหญ่มี 12 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ 2 คลินิก หมอครอบครัว (Primary Care Unit: PCU) ที่จะต้องช่วยกันในเรื่องของการทําตามมาตรฐานฯ ที่เราได้ช่วยก็คือการออกแบบในส่วนของการเข้าถึงประชาชน เป้าหมายคือต้องการให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐานรวดเร็วฉับไวปลอดภัย ดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ต่อเนื่องไปถึงครอบครัว นี่คือหัวใจที่เราได้พยายามสร้างให้กับทางทีม รพ.สต.
ด้าน พญ.ศิวาพร นาทประยุทธ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลบัวใหญ่ กล่าวว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นแพทย์ที่รับหน้าที่ในการนํานโยบายจากโรงพยาบาลไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องลงสู่ชุมชน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นบุคคลที่จะเข้ามาสานต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของโรงพยาบาล หนึ่งในนโยบายที่เรานําลงมาเพื่อให้เกิดในขั้นมาตรฐาน ก็คือเรื่องของการดําเนินงาน Intermediate care หรือการดูแลระยะกลาง หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่พ้นจากระยะวิกฤติและมีอาการคงที่กลับมาดูแลต่อที่โรงพยาบาลชุมชน
ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ยังคงมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่และมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิต ประจำวัน จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์โดยทีมสหวิชาชีพ (multidisciplinary approach) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะไปสอดคล้องกับหลักของ สรพ. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางแล้วก็จัดให้บริการตามบริบทของพื้นที่ ที่สอดคล้องตามมาตรฐานของทาง สรพ. ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สามารถส่งเสริมให้เกิดมาตรฐาน เกิดผลงานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ให้กับ รพ.สต. แต่ละแห่งตามบริบทและปัญหาของพื้นที่ได้
ในส่วนของโรงพยาบาลบัวใหญ่นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (ระดับอำเภอ) ที่ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกจำนวน 12 แห่ง เรานําหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมาใช้ปรับให้เกิดประโยชน์ตามบริบทของพื้นที่แต่ละแห่ง ซึ่งในอําเภอบัวใหญ่ มี รพ.สต. ทั้ง 12 แห่ง ที่ผ่านการประเมินรับรองขั้นพัฒนาจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 2 แห่งกําลังจะเข้าสู่ขั้นมาตรฐาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่
นางจําเนียร ทรงโพธิ์ หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง กล่าวว่า ตนเองเป็นที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลของนครชัยบุรินทร์ มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นกัลยาณมิตรของพื้นที่ในการที่จะเข้าไปช่วยอาสาสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในสถานพยาบาลปฐมภูมิ
โดยนํามาตรฐานเข้าไปใช้ให้เหมาะสม โดยใช้บริบทเป็นตัวตั้งในการพัฒนาคุณภาพ ใช้ concept ว่า “รู้เรื่องเรา เข้าใจหลัก รักประชาชน” คือการเข้าใจสภาพของพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไร ประชาชนมีปัญหาสุขภาพเรื่องอะไร แล้วก็ใช้มาตรฐานฯ เป็นตัวที่ไปขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่และผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือตอบโจทย์ของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วย ความปลอดภัยของผู้ให้บริการ และความปลอดภัยของประชาชน