ณ สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย โดย องค์การตลาด และกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้า OTOP มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรของไทย ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าโอทอป ผลผลิตทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ประชาชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร สถาบันการเกษตร สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเปราะบาง ด้วยฐานข้อมูลทางการเกษตร และฐานข้อมูลการตลาดจากความต้องการซื้อขายสินค้าเกษตร โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีนายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร รองประธานกรรมการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วย อต. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามกลุ่มเป้าหมาย SDGs เพื่อให้ประชาชน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการรายย่อยมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง จึงเป็นที่มาของแนวทางความร่วมมือกันระหว่าง 4 หน่วยงาน ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้า OTOP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจำหน่ายสินค้า การกระจายสินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ โดยระบบดังกล่าว สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการผลผลิตจากโรงเรียน และข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร/ เกษตรกร พร้อมด้วยระบบ Logistics ในการติดตามสินค้า ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการซื้อขายในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสจำหน่ายผลผลิตในราคายุติธรรม ช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สินค้าล้นตลาด และมุ่งพัฒนาตลาดขององค์การตลาดให้เป็น Marketing and Trading ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรเครือข่าย เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ให้เป็นคนดี คนเก่ง ประกอบอาชีพสุจริต สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
ดร.ชัย วุฒิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวถึงความร่วมมือ ในฐานะหน่วยงานที่พร้อมเป็นฐานรากทางด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงให้กับประเทศ ที่ได้สะสมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลโภชนาการและสุขภาพของเด็กและเยาวชน รวมทั้งการทำ Demand-supply matching ของโรงเรียนและหน่วยบริการของรัฐ กับผู้ให้บริการเกษตร อาหารและขนส่ง ในความร่วมมือครั้งนี้ เนคเทค สวทช. ได้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพการบริการดิจิทัลของหน่วยงานพันธมิตร ด้วยการต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้ 3 ผลงาน จากแพลตฟอร์มสำหรับโรงเรียน สู่การพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้า OTOP ได้แก่ Thai School lunch หรือ ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ ที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ สามารถประมาณการค่าใช่จ่ายและวัตถุดิบล่วงหน้า ซึ่งระบบนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ KidDiary ที่ครอบครัวสามารถเข้าถึงข้อมูลภาวะทางโภชนาการ และพัฒนาการของเด็ก ๆ
รวมถึงการเชื่อมโยงร่วมกับระบบ Farm to School เพื่อจับคู่ความต้องการสินค้าทางการเกษตรของโรงเรียนกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ และกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่ได้มาตรฐานเพื่อบริหารจัดการผลผลิต โดยร่วมขับเคลื่อน 2 กลไก คือ 1) การวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อติดตามและส่งเสริมการมีสุขภาพดีของคนไทยด้วยการใช้ข้อมูลและนวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อมูล โดย ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ (HBA) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG) และ 2) การพัฒนาให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มสู่การใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ โดย บริษัท ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็น NECTEC Startup ล่าสุด ที่มีความเชี่่ยวชาญเรื่อง AI และ Big Data Analytics ในการดูแลสุขภาพของคนไทย
นายพงษ์ศักดิ์ ติยานันทิ กรรมการบริษัท ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (ประเทศไทย) กล่าวในฐานะบริษัท Start up ที่นำผลงานวิจัยศักยภาพสูงของเนคเทค มาขยายผลสู่เชิงพาณิชย์สู่การใช้งานจริง พร้อมเป็นพันธมิตรร่วมทำงานกับทั้ง3 หน่วยงาน ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้า OTOP ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ โดยมุ่งพัฒนาใน 2 ส่วน ประกอบด้วย
1) การเชื่อมโยงข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลความต้องการของลูกค้า 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มโรงเรียนที่ต้องการวัตถุดิบเพื่อตอบโจทย์อาหารกลางวันในโรงเรียน, กลุ่มลูกค้าเดิมขององค์การตลาด เช่น กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาล กลุ่มลูกค้าทั่วไป และการลงทะเบียนเกษตรกร ผู้ประกอบการ และเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่ เป็นคู่ค้าขององค์การตลาด (อต.) และกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) 2) Platform พร้อมจ่าย ได้แก่
ฝั่งผู้ซื้อ: จะเป็นรูปแบบเว็บไซต์ และ รูปแบบ Mobile Application สำหรับสั่งซื้อสินค้า รองรับการเชื่อมโยงบัญชีผู้ใช้งานบุคคลทั่วไป และลูกค้าหน่วยงาน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ผู้ประกอบการรับจัดอาหาร
ฝั่งผู้ขาย: (คู่ค้าของ อต.และผู้จำหน่ายสินค้า OTOP จากกรมการพัฒนาชุมชน) : มีการลงทะเบียนสินค้าที่จะขายใน platform โดยหากเป็นผลผลิตทางการเกษตรจะมีลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่อจัดเก็บตำแหน่งที่ตั้งแปลงเกษตรและมาตรฐานการผลิต เพื่อรองรับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ
ฝั่งผู้บริหารจัดการตลาด: สามารถบริหารจัดการการขาย อาทิ จัดการคู่ค้า จัดการราคา จัดการ stock สินค้า จัดการการจัดส่งสินค้า การชำระเงิน ส่งเสริมการขาย กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
เป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งหวังพัฒนาให้แพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้า OTOP เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลที่สำคัญของประเทศ ในการยกระดับเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าเกษตร
ของไทย รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากข้อมูล ผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงได้อย่างครบวงจร ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาบริการดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยตอบโจทย์ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในด้านสร้างการมูลค่าเพิ่มของสินค้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง