คปภ.เร่งเดินหน้าต่อเนื่อง จัดกิจกรรมรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.” ปลุกจิตสำนึกเจ้าของรถ ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการทำประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. ที่ จ.ชลบุรี พร้อมจัดเสวนาให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับประกันภัย พ.ร.บ. และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” เพื่อให้สามารถขอรับการช่วยเหลือ เยียวยาได้อย่างทันท่วงที เมื่อประสบภัยจากรถในทุกกรณี
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.” ด้วยการปล่อยขบวนคาราวานรถมอเตอร์ไซค์ “ขับขี่อุ่นใจ” จำนวนกว่า 100 คัน พร้อมจัดเสวนาให้ความรู้โดยมีผู้แทนสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด อาสาสมัครประกันภัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมงานรวมกว่า 300คน ณ บริเวณโรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี ผศ.ดร ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพาให้เกียรติกล่าวต้อนรับและร่วมงาน
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงาน คปภ. จึงได้จัดกิจกรรมขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. ทั้งนี้ จากสถิติรถยนต์จดทะเบียนทั่วประเทศสะสม ณ วันที่ 30พฤศจิกายน 2562 มีจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกว่า 40.64 ล้านคัน ในขณะที่รถที่มีประกันภัย พ.ร.บ. มีเพียง 25.51 ล้านคัน หรือประมาณ 60.05% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของ การมีประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งการไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. นั้นเจ้าของรถมีความผิดตามกฎหมาย และถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนี้ หากรถคันดังกล่าวไปก่อเหตุ เจ้าของรถจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัย เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับกรณีบาดเจ็บ หรือหากเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จะต้องรับผิดชอบค่าปลงศพหรือค่าทดแทน จำนวน 35,000 บาท แต่หากปฏิเสธการจ่าย แม้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเข้ามาจ่าย แต่จะต้องถูกเรียกคืนในภายหลัง พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 และอาจถูกฟ้องทางแพ่งเพิ่มเติมได้ หากผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายหรือความสูญเสียเกินกว่านั้น ในทางกลับกัน หากมีการทำประกันภัย พ.ร.บ. บริษัทจะเข้ามารับผิดชอบแทน โดยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวนสูงสุด 80,000 บาท กรณีบาดเจ็บ หรือหากเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวนสูงสุด 300,000 บาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การไม่จัดทำประกันภัยจะส่งผลกระทบหรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่เจ้าของรถที่ไม่จัดทำประกันภัยอย่างมาก ในทางกลับกันประกันภัย พรบ. จะช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินให้เจ้าของรถเป็นอย่างมาก
“กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สามารถนำระบบประกันภัยไปใช้บริหารความเสี่ยงของตนเอง ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาท และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย