“ งานมหกรรมรวมพลสมาชิก TO BE NUMBER ONE ” เกิดจากแนวพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE เรื่องการใช้กลยุทธ์การประกวดผลงาน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนางานสู่คุณภาพและความยั่งยืนของโครงการ โดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้รับสนองพระดำริร่วมกันจัดประกวดผลงานโครงการ TO BE NUMBER ONE ระดับประเทศ ในงานมหกรรมรวมพลสมาชิก TO BE NUMBER ONE เป็นประจำทุกปี โดยงานมหกรรมรวมพลสมาชิก TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2566 ปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2566
ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 21 มีจังหวัด อำเภอ เขตกรุงเทพมหานคร และชมรม TO BE NUMBER ONE เข้าร่วมนำเสนอผลงานและร่วมจัดแสดงนิทรรศการ จำนวนทั้งสิ้น 596 แห่ง กิจกรรมในงานมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแนวทางโครงการ TO BE NUMBER ONE และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นปีแรกที่ปรับเกณฑ์ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพสำหรับการประกวดผลงาน เพื่อให้สามารถวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดยในปีนี้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีองค์ประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE โปรดให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานในงานมหกรรมรวมพลสมาชิก TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2566 แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้บริหารโครงการ TO BE NUMBER ONE ดีเด่น ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 9 รางวัล ได้แก่ 1.นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ 2.นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด 3.นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส 4.นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง 5.นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี 6.นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย 7.นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง 8.นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และ 9.นางพรเพชร เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้เข้าร่วมงานมหกรรมรวมพลสมาชิก TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2566 ในปีนี้กล่าวว่าสิ่งที่น่าภูมิใจของจังหวัดชัยภูมิที่เห็นได้ชัดคือเยาวชนซึ่งเป็นผลผลิตของ TO BE NUMBER ONE ของจังหวัดชัยภูมิที่ได้รับทุนพระราชทาน 5 คน ทั้งในระดับโรงเรียนและวิทยาลัย ทำให้รับรู้ได้ว่าการเป็น TO BE NUMBER ONE นอกเหนือจากกิจกรรมที่ช่วยเยาวชนในเรื่องห่างไกลจากยาเสพติดแล้ว ยังฝึกให้เยาวชนมีภาวะความเป็นผู้นำ มีทัศนคติที่ดี มีความเข้มแข็ง และสามารถเป็นแกนนำที่ดีต่อไปได้
สำหรับความคาดหวังในการขับเคลื่อนโครงการ TO BE NUMBER ONE ของจังหวัดชัยภูมิ คือให้สามารถขยายการดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE เข้าไปครอบคลุมทั้งในระดับชุมชน หมู่บ้าน และเด็กระดับประถมวัย รวมทั้งในระดับเรือนจำ สำนักงานคุมประพฤติ และระดับอำเภอด้วยเช่นกัน ซึ่งมองว่าโครงการ TO BE NUMBER ONE ดำเนินมาจนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 21 แล้ว ถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์วัยรุ่น เยาวชนได้ดี อยากให้เยาวชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงโครงการนี้ และปีนี้ก็ได้ตั้งเป้าจะขยายโครงการ TO BE NUMBER ONE เข้าไปในระดับหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดชัยภูมิมีการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนอยู่แล้ว ก็จะนำกิจกรรมของโครงการ TO BE NUMBER ONE เข้าไปเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วย
ในขณะที่นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หนึ่งในผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับรางวัลพระราชทานฯ ประจำปี 2566 ในฐานะผู้บริหารโครงการ TO BE NUMBER ONE ดีเด่นกล่าวว่า จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดขนาดกลางการดำเนินกิจกรรม ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมือง ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนดำเนินงานในโครงการ TO BE NUMBER ONE ยังไม่ครบถ้วนในบางส่วนจึงจำเป็นต้องปรับการทำงานให้มีความเข้มแข็งในระดับจังหวัดของตนเองก่อน ปีนี้จึงได้กำหนดเป้าหมายให้มีการดำเนินงานอำเภอ TO BE NUMBER ONE ให้ครบทั้ง 13 อำเภอ ซึ่งก็สามารถดำเนินงานได้จนประสบความสำเร็จ โดยความร่วมมือระหว่างอำเภอและสาธารณสุขอำเภอ ทำได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถัดมาคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือไปยังจังหวัดอื่นๆ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะเครือข่ายของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และสำนักงานคุมประพฤติ ได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังจังหวัดอื่นในพื้นที่เขตภาคเหนือ ปัจจุบันจังหวัดลำปางเป็นจังหวัด TO BE NUMBER ONE รักษามาตรฐานพร้อมเป็นต้นแบบระดับเงินปีที่ 2