ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021

0
1493

ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ SCBS CIO ยังมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตดี มีงบแสดงฐานะทางการเงินและผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ยอดขายและกำไรสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ได้แก่ หุ้นในหมวด Information Technology และ Consumer Discretionary โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น กลุ่ม FAAMG (Facebook, Amazon, Apple, Microsoft, Google (Alphabet)) ที่ผลการดำเนินงานของบริษัทยืนยันสถานะความแข็งแกร่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการยังครองสัดส่วนตลาดได้ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังรวมถึงหุ้นกลุ่ม semiconductor ของสหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์จากกระแส digital transformation ที่เร่งตัวขึ้นจากวิกฤติโควิค-19 ทำให้เกิดความต้องการใช้ชิพอย่างมหาศาลและส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิพอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2022 และยังได้อานิสงส์จากนโยบาย CHIPS for America act ที่ให้เงินสนับสนุนทั้งกับผู้ผลิตและผู้วิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเครดิตเงินภาษีคืนให้กับบริษัทด้วย ทั้งนี้ SCBS CIO มีมุมมองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ภาพรวมยังมีแนวโน้มออกมาดี โดย Consensus คาดว่า 2Q2021 ยอดขายจะเติบโต 22%YoY และ EPS จะเติบโต 61%YoY สำหรับกลุ่มที่ Consensus คาด EPS จะออกมาโดดเด่น คือกลุ่ม Cyclical industrials, Consumer Discretionary, Materials ด้านกลุ่ม FAAMG ยังมีแนวโน้มที่งบใน 2Q2021 จะออกมาดีเช่นกัน โดย Consensus คาด EPS growth เฉลี่ย อยู่ที่ 52%YoY

สำหรับปัจจัยที่จะช่วยหนุนการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ มีรายละเอียด ดังนี้

ประการแรก Peak Growth ดัชนี Composite PMI (รวมภาคการผลิตและบริการ) สหรัฐฯ ได้ทำจุดสูงในช่วง 2Q2021 และจะเริ่มมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านช่วงการขยายตัวสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในช่วง 2H2021 โดยสถิติในอดีตชี้ว่าหุ้นกลุ่ม Growth จะปรับเพิ่มขี้นได้ดี เมื่อเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงที่ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ยังอยู่เหนือ 50 จุด แต่ทยอยปรับลดลงแบบในปัจจุบัน ซึ่งหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง และมีงบดุลแข็งแกร่ง มักสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น

ประการสอง Peak Inflation เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นชั่วคราว สืบเนื่องจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในช่วง 2H2021 มีแนวโน้มชะลอความร้อนแรงลง ตามผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าเริ่มหมดไป และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สอดคล้องกับ ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ชี้ว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นระยะนี้เกิดจากปัจจัยชั่วคราวและจะเริ่มแผ่วลงในระยะถัดไป โดยเรามองว่า ในระยะข้างหน้า เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกลับมาเคลื่อนไหวที่อยู่ระหว่าง 1-3% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับเหนือ 3% ซึ่งจะส่งผลให้หุ้นกลุ่ม Value/Cyclical สหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ กลุ่ม Financials, Energy, Industrials, Materials เริ่มมีความน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่ม Growth 

ประการสาม Flattening Yield Curve Fed มีแนวโน้มส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่า bond yield สหรัฐฯ อายุ 2 ปี และส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve) สหรัฐฯ ปรับลดความชันลง (Bear Flattening) ในระยะนี้ ไปจนถึงช่วงก่อนการประชุมที่ Jackson hole วันที่ 26-28 ส.ค. เป็นอย่างเร็ว หรือก่อนการประชุม Fed วันที่ 22 ก.ย.เป็นอย่างช้า ซึ่ง bond yield ระยะยาวที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำนี้ มีส่วนช่วยหนุนความน่าสนใจของหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ เนื่องจากหุ้นกลุ่ม Growth มีลักษณะการคิดกระแสเงินสดยาว (long duration stock) 

ความเสี่ยงในประเด็นการปรับขึ้นภาษี (Tax Hike) และการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ด้านการผูกขาดทางการค้า (Antitrust) ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา SCBS CIO มองว่า ความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีในอัตราที่สูงอย่างที่ประธานาธิบดีไบเดนเคยเสนอเริ่มลดลง เนื่องจากเม็ดเงินของแผนการใช้จ่ายกระตุ้นการลงทุนโครงร้างพื้นฐาน (Infrastructure Bill) มีแนวโน้มออกมาต่ำกว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนเสนอ โดยมีความเป็นไปได้ที่อัตราภาษีสูงสุดที่เรียกเก็บจะออกมาลดลง โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลบนรายได้จากในประเทศ จาก 21% เป็นสูงสุดไม่เกิน 25% (เดิมตั้งเป้าที่ 28%) และการปรับขึ้นภาษีบนรายได้จากต่างประเทศ (GILTI tax) จาก 10.5% เป็นสูงสุดไม่เกิน 15% (เดิมตั้งเป้าที่ 21%) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่กำไร (Earnings) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกปรับประมาณการลง โดยเฉพาะแรงกดดันต่อกลุ่มเทคโนโลยี และจะช่วยหนุนกระแสเงินสดของบริษัทสหรัฐฯ และส่งผลให้บริษัทมีความสามารถที่จะประกาศจ่ายปันผล และซื้อหุ้นคืนมากขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องการตรวจสอบการผูกขาดตลาดของกลุ่ม Big Tech สหรัฐฯ จะเห็นว่า ในแง่ของ Valuation หรือ EV/Sales ของกลุ่ม Big Tech (Facebook, Amazon, Apple, Google) ในปัจจุบัน ยัง เทรดเฉลี่ยค่อนข้างสูงที่ 5.4 เท่า สะท้อนว่า นักลงทุนในตลาดยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับความเสี่ยงเรื่อง Antitrust ว่าจะกระทบต่อ Valuation มากนัก เช่นเดียวกันกับแนวโน้มการเติบโตของยอดขาย (Sales growth) ของกลุ่มฯ ที่ไม่ได้ตอบรับความเสี่ยงเช่นกัน เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปี consensus คาด sales growth สำหรับปี 2022 ของกลุ่มฯ ถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้นกว่า 17% ขณะที่คาด sales growth โดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 ของกลุ่มฯ ยังขยายตัวสูงถึง 19% ต่อปี ทั้งนี้ เราประเมินว่า ประเด็นการฟ้องร้องเรื่อง Antitrust ของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อบริษัทเทคโนโลยีที่มีพฤติกรรมผูกขาด มักใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานตั้งแต่เริ่มตั้งข้อกล่าวหาจนถึงกำหนดบทลงโทษ เช่น กรณีของ AT&T และ Microsoft ที่ศาลสหรัฐฯ ใช้เวลาการไต่สวนนานถึง 8 ปี และ 2-3 ปี ตามลำดับ จึงทำให้นักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องนี้บนกลุ่มฯ มากนัก ความเสี่ยงโดยรวมจึงค่อนข้างจำกัดในปีนี้ 

โดยสรุป SCBS CIO ยังมีมุมมองที่ดีต่อหุ้นกลุ่ม Growth ของสหรัฐฯ เนื่องจาก ได้รับปัจจัยสนับสนุนทั้งจากประเด็นที่การเติบโตของเศรษฐกิจ และ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านช่วงการเติบโตในระดับสูงสุดไปแล้ว ในช่วงไตรมาส 2/2021 (Peak Growth & Peak Inflation) และ Yield Curve สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดความชันลง (Flattening) รวมทั้ง ผลประกอบการของหุ้นกลุ่ม Growth ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง ขณะที่ความเสี่ยงที่ผลประกอบการจะถูกปรับประมาณการลดลงจากแผนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าความเสี่ยงเรื่อง Antitrust ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น จะสามารถสร้างความผันผวนให้หุ้นกลุ่ม growth สหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Big Tech ในช่วงสั้นก็ตาม 

ผู้เขียนบทความ

– น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® – ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด 

– จตุรภัทร ทนาบุตร – ผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด