“ประเสริฐ” รองนายกฯ หนุน สสส.ผนึกกำลัง 7 หน่วยงาน ตั้ง “ภาคีอาสาจังหวัดเข้มแข็ง” ดัน 5 จังหวัดนำร่อง ขยายผล 13 เขตสุขภาพ ลดป่วย-เหลื่อมล้ำ เพิ่มเข้าถึงบริการสุขภาพ ภายในปี 69 ฝาก สสส.สื่อสารขายบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกม.อาชญากรรมทางไซเบอร์

0
35

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวในการประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 4/2568 ว่า ที่ประชุมรับทราบการจัดตั้ง “ภาคีอาสา” หรือคณะกรรมการภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) บูรณาการความร่วมมือ 7 หน่วยงานยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย สสส., สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ขับเคลื่อนแผนงานสร้างจังหวัดเข้มแข็ง โดยใช้พื้นที่เป็นฐานและการบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งทั้ง 7 หน่วยงานร่วมเชื่อมโยงข้อมูล กำหนดยุทธศาสตร์ บูรณาการทรัพยากร และสนับสนุนนวัตกรรมเชิงพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อน

โดย “เป้าหมายหลักของแผนงานสร้างจังหวัดเข้มแข็ง เพื่อลดช่องว่างทางสังคม และความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการที่ประชากรมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยหลัก คือ 1.พฤติกรรมสุขภาพ 2.สิ่งแวดล้อม 3.ชุมชนเข้มแข็ง 4.ระบบบริการสุขภาพ และ 5.นโยบายสาธารณะดี การขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ ต้องบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน

ซึ่งดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทยอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก แต่มีอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน เกิดจากอุบัติเหตุและโรคไม่ติดต่อ NCDs จึงเป็นเรื่องดีที่ 7 หน่วยงานทำความร่วมมือในรูปแบบ “ภาคีอาสา” เพื่อสร้างจังหวัดเข้มแข็ง สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาได้เองโดยไม่ต้องรอสั่งการจากส่วนกลาง สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสให้ประชาชนในระดับพื้นที่”

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างกรอบนโยบายแนวทางการจัดทำแผนการดำเนินงานและวาระกลาง ประจำปี 2569 โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังเป็นปัญหาส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ขอให้ สสส. ดำเนินการสื่อสารปัญหาภัยบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชน และการลับลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับใหม่) ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นเครื่องมือให้การทำงานป้องกันการโฆษณาหรือซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย เช่น ปืน บุหรี่ไฟฟ้า ทำได้รวดเร็ว โดยกระทรวงดีอีจะแจ้งให้เจ้าของแพลตฟอร์มรับทราบความรับผิดร่วมกับเจ้าของสินค้าที่ขายสินค้าผิดกฎมาย เพื่อเป็นการลดช่องทางออนไลน์ขายสินค้าผิดกฎหมายรอบด้าน

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการทำงานของ ภสพ. เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในระดับจังหวัด จัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญของจังหวัด มีตัวชี้วัดที่วัดผลได้ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต

โดยแผนขับเคลื่อนปี 2568 เริ่มต้นใน 5 จังหวัดเข้มแข็ง ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ ขอนแก่น ตราด และพัทลุง ปี 2569 ขยายผลครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ สร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจนทั้งการลดอัตราการป่วย การเพิ่มการเข้าถึงบริการ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้นำข้อมูลประชากร ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ อายุคาดเฉลี่ย และระบบฐานข้อมูลภาคีอาสา มาสร้างข้อตกลงแผนงานยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งเป็นงานที่สสส.ขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อยู่แล้ว และแผนงานยุทธศาสตร์ทุกจังหวัดจะถูกนำเสนอผ่านการประชุมกรรมการบริหาร 7 หน่วยงานยุทธศาสตร์เพื่อพิจารณาต่อไป