นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม World Hepatitis Summit 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 เมษายน 2567 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส
ในวันที่ 11 เมษายน 2567 นายแพทย์ธงชัย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน World Hepatitis Summit 2026 ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบ ร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ และได้กล่าวว่า การคัดกรองและดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี และ ซี ของประเทศไทย ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีการคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี และ ซี ภายในปี 2573 พร้อมกันนี้ ได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายให้เข้าร่วมประชุมในครั้งต่อไป
World Hepatitis Summit 2024 เป็นการประชุมไวรัสตับอักเสบครั้งที่ 4 โดยสาธารณรัฐโปรตุเกสเป็นประเทศเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมจาก 95 ประเทศทั่วโลกและได้มีการประกาศปฏิญญา โดยเรียกร้องให้มีการบูรณาการระบบสุขภาพ เร่งรัดการเข้าถึงการคัดกรอง วินิจฉัย และดูแลรักษา และให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ
สำหรับแนวคิดหลักการประชุมในครั้งนี้ คือ บูรณาการ เร่งรัด และกำจัด มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นและส่งเสริมการดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน ด้านโรคไวรัส ตับอักเสบที่ประสบความสำเร็จ และองค์ความรู้ที่หลากหลาย จากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วม สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในประเทศของตนเองต่อไป
นอกจากนี้ ผู้แทนกรมควบคุมโรคได้เข้าร่วมเวทีอภิปรายถึงปัญหาอุปสรรค ความท้าทาย ช่องว่าง และแนวทางการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เป็นประโยชน์ต่องานโรคตับอักเสบเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้ได้ภายในปี 2573 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีได้รับการรักษากว่า 20,000 คน
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 12 เมษายน 2567