การประชุมนานาชาติออนไลน์ ICNB ครั้งที่ 5 คึกคักทุกภาคส่วนทุกระดับเสนอแนะความร่วมมือที่ต้องแก้ปัญหาร่วมกันทั้งในประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก พลเอกประยุทธ์รับลูกผ่านตัวแทนจะนำข้อเสนอการประชุมไปประยุกต์กำหนดนโยบายแก้ปัญหาฟื้นฟูประเทศ ด้านหมอหนู ให้เชื่อมั่น สธ.พร้อมดูทุกคน ขณะที่ ผอ.WHO แนะ 4 ข้อที่ทั้งโลกต้องร่วมกันทำให้สำเร็จ ส่วนประธานสถาบันการสร้างชาติ ชี้ถึงเวลาต้องมียุทธศาสตร์แก้ปัญหาพร้อมเรียกร้องสร้างโอกาสใหม่ให้มวลมนุษยชาติ
ในประชุมนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติInternational Conference on Nation-Building (ICNB)ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อประชุม “Innovative Strategies for Crisis Recovery and Nation-Building” ผ่านระบบออนไลน์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล เป็นผู้แทน กล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุมว่าประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตจากปัญหาการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 โดยเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด และพยุงเศรษฐกิจให้ไม่เกิดสภาวะถดถอย ให้การช่วยเหลือการดำรงชีพของประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ทั้งนี้ การฟื้นฟูวิกฤตในอนาคตต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องการยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรค์ที่ช่วยฟื้นจากวิกฤต
“โดยเชื่อว่าเนื้อหาในการประชุมครั้งนี้จะสามารถจะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างดีในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลเพื่อที่จะฟื้นฟูประเทศในระยะอันใกล้นี้” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวแสดงความชื่นชมการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการริเริ่มที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้พยายามอย่างหนักที่แก้ไขสถานการณ์ไวรัสโควิดครั้งนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการเร่งด่วนให้เครือข่ายทางสาธารณสุขกว่าหนึ่งล้านคน เพื่อดูแลคนไทยในพื้นที่สีแดง และพื้นที่ทั่วไป เพื่อมั่นใจว่า คนไทยจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง พร้อมกับได้ส่งเสริมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเพื่อคนไทยทุกคนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ยังคงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประชาชนในประเทศ ในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด โดยการยึดมาตรการทางสาธารณสุข การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่าง อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตระดับโลกครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง และโลกต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเสนอว่า มี 4 สิ่งที่ต้องร่วมกันทำให้สำเร็จคือ 1. ธรรมาภิบาลระดับโลกที่ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องสร้างฉันทามติทั่วโลกสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศหรือเครื่องมือทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อปรับปรุงความร่วมมือระหว่างประเทศให้เร็วขึ้น
“2.การจัดหาเงินทุนที่ดีขึ้น การลงทุนเพิ่มเติมในการเตรียมความพร้อมระดับชาติและระดับโลกเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องสร้างจากสถาบันการเงินที่มีอยู่แทนที่จะสร้างสถาบันหรือโครงสร้างใหม่ขึ้นมา 3.ระบบและเครื่องมือที่ดีกว่า เพื่อการคาดการณ์ป้องกัน เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจจับและเพื่อตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดและการระบาดใหญ่ และ 4.การระบาดใหญ่เป็นการบอกให้เรารู้ว่า สุขภาพเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงควรถูกนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่เข้มแข็งนอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้เราสร้างอนาคตที่มีสุขภาพดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน”ผู้อำนวยการ WHO กล่าว
ส่วนศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบสร้างการเปลี่ยนระดับโลกทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างสิ้นเชิง ทำให้อนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการฟื้นตัวของวิกฤต ในขณะที่ประเทศร่ำรวยกำลังพูดถึงการฉีดวัคซีนครั้งที่สาม แต่ประชากรในประเทศยากจนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่ครั้งเดียว วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับทุกคนในโลก ดังนั้น ทุกคนควรได้รับวัคซีนและยารักษาโรค
“ดังนั้นเราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการด้านสาธารณสุขการลดความเสี่ยงและผลกระทบของการแพร่ระบาดยกเลิกการผูกขาดตลาดวัคซีนการสร้างความยืดหยุ่นของประเทศการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ และการฟื้นความร่วมมือระดับโลกแม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะเป็นวิกฤตที่สร้างความเสียหายอย่างมาก แต่ในทุกวิกฤตก็ยังมีโอกาสที่ดี สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับมนุษยชาติในการพิจารณาใหม่ว่ามนุษย์ควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไรและอยู่ร่วมกันอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าที่เคย เราควรคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อสร้างประเทศที่มั่งคั่ง เสมอภาค และยั่งยืน และสร้างโลกที่ดีขึ้น” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว
อนึ่งในการจัดประชุมครั้งนี้มีวิทยากร 50 คน จาก 20 ประเทศ ครบทุกมิติ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี การศึกษา แรงงาน สุขสภาพ สาธารณสุข ธุรกิจ และการระหว่างประเทศ โดยวิทยากรเป็นผู้นำประเทศ รัฐมนตรี ทั้งอดีตและปัจจุบัน มากกว่า 15 คน เป็นการประชุมนานาชาติที่มองเรื่องการฟื้นคืนจากวิกฤตโควิดได้ครบถ้วนทุกมิติมากที่สุด มีวิทยากรมากที่สุด จากทุกภูมิภาคของโลกครบที่สุด เท่าที่เคยมีการจัดขึ้นมาในประเทศไทย และผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลกครบทุกทวีป