ประกันภัยโควิดช่วยเยียวยาความเดือดร้อนแก่ประชาชนแล้วกว่า 9,428 ล้านบาท • คปภ. คุมเข้มบริษัทประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย

0
1588

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง ทำให้มีผู้เอาประกันภัยยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนปริมาณรายวันเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสถิติการรับประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 พบว่ามียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท ขณะที่มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมถึง 9,428.63 ล้านบาท

ทั้งนี้ อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในอัตราคงที่ แต่นับจากเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีอัตราผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นและมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม โดยเริ่มจากเดือนเมษายน 2564 มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสม 308.96 ล้านบาท เดือนพฤษภาคม 1,143.09 ล้านบาท เดือนมิถุนายน 2,050.49 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม 3,996.22 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมสูงถึง 9,428.63 ล้านบาท แม้อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อบางบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 แต่เบี้ยประกันภัยของอุตสาหกรรมประกันภัยตั้งแต่มีนาคม 2563- มิถุนายน 2564 มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบกว่า 340,230 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตกว่า 794,500 ล้านบาท โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งอุตสาหกรรมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบมีกว่า 340,230 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบ ซึ่งจากการที่ทำการทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุด ยังไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบ สำหรับบริษัทประกันภัยบางบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ. มีการกำกับดูแลฐานะทางการเงินและการดำเนินการของบริษัททั้งการกำกับดูแลนอกที่ทำการบริษัทและการเข้าตรวจสอบที่ทำการบริษัท ควบคู่กับการออกออกมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

“ณ เดือนสิงหาคม 2564 ประกันภัยโควิด-19 ได้เข้าไปเยียวยาประชาชนถึงกว่า 9,428 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าจะมีการเยียวยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในเชิงระบบของธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและจะติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ หากมีการดำเนินการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย พร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย