บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทยมีมติเอกฉันท์ ยื่นอุทธรณ์บอร์ด คปภ. พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน และปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักประกันภัยสากล 

0
1278

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ครั้งที่ 9/2564-66 เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 นั้น คณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นอุทธรณ์ขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย และ 2) คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย โดยสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยทั้ง 13 ท่าน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

การอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ซึ่งยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 โดยบริษัทประกันวินาศภัย มีประเด็นสำคัญมาจากการออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ และบริษัทประกันภัยได้ออกจำหน่ายกรมธรรม์ให้กับประชาชนไปแล้ว การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังถึงกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกก่อนคำสั่งฉบับดังกล่าว ถือว่าผิดหลักการที่เคยได้ปฏิบัติกันมา เนื่องจากการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนเคยให้ความเห็นชอบไว้แล้วก่อนหน้า จะบังคับใช้เฉพาะการออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่หลังวันที่คำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขมีผลบังคับแล้วเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว การออกคำสั่งดังกล่าวยังขัดต่อหลักการออกกฎหมายของประเทศ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ให้มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายต่อผู้อยู่ภายใต้ปกครอง

การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย เพราะจะทำให้ภาพความเสี่ยงโดยรวมนั้นต่างไปจากภาพความเสี่ยง ณ วันที่บริษัทประกันภัยได้ยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยที่ได้กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเงื่อนไขในการรับประกันภัยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และอาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยตัดสินใจไม่รับประกันภัยตั้งแต่ต้นหากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในกรมธรรม์ 

จะเห็นได้ว่า การออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในระดับวิกฤต และส่งผลทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 2 บริษัทต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ในที่สุดตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และทำให้บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มทุนได้ เนื่องจากผู้ลงทุนไม่มีความมั่นใจว่าหากมีการเพิ่มทุนไปแล้วจะเพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต 

การปิดดำเนินการของ 2 บริษัทประกันวินาศภัย ยังก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทำให้ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ อีกกว่า 4 ล้านรายต้องได้รับความเดือดร้อนและต้องหาบริษัทประกันภัยมารองรับความเสี่ยงของตนเองหลังจากการปิดบริษัทในครั้งนี้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อคู่สัญญาอื่น ๆ ของบริษัท เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ สถาบันการเงิน พนักงานของบริษัท รวมถึงเป็นภาระต่อกองทุนประกันวินาศภัยเป็นอย่างมากที่ต้องมาใช้หนี้ให้กับผู้มีสิทธิตามสัญญาประกันภัยอีกด้วย

สำหรับการอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีประเด็นสำคัญมาจากการออกคำสั่งซึ่งได้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยได้รับความเห็นชอบทั้งเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัยจากนายทะเบียนไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบความคุ้มครองเพิ่มเติมโดยไม่ได้มีการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยรองรับไว้ตั้งแต่ต้น 

การออกคำสั่งดังกล่าวถือว่าขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย เพราะหากมีการขยายเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มขึ้นจากเงื่อนไขเดิมที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว บริษัทประกันภัยจะต้องทบทวนและกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยใหม่ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเดิมตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งให้มีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้ให้สิทธิกับบริษัทประกันภัยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยใหม่และสิทธิในการพิจารณาว่าจะเลือกรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้นหรือไม่

ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอยืนยันในหลักการเรื่องความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับความคุ้มครองแบบผู้ป่วยในต่อเมื่อเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ตามข้อบ่งชี้ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ ให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่มีอาการแต่เข้ากักตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล

นอกจากนี้แล้ว การออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ และก่อให้เกิดปัญหากับบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญาประกันภัยต่อไว้ เนื่องจากบริษัทที่รับประกันภัยต่ออาจปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เป็นผลมาจากเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้มีการทำประกันภัยต่อไว้ในตอนแรก และจะทำให้การทำสัญญาประกันภัยต่อในอนาคตมีความยุ่งยากและลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้รับประกันภัยต่อขาดความเชื่อมั่นในระบบการรับประกันภัยของประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยไทย เนื่องจากการใช้อำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยให้ความเห็นชอบไว้นั้น ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักการประกันภัยสากล

ด้วยเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทยในฐานะตัวแทนของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งหมดในประเทศไทย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยกลับสู่หลักการประกันภัยพื้นฐานตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยตามระดับความเสี่ยง รวมทั้งเป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการประกอบธุรกิจประกันภัยที่เป็นสากล ซึ่งหากไม่มีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันวินาศภัย และนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในที่สุด