บพท.สานพลังภาคีปักธงความหวังปั้น”สระบุรีฟู้ดวัลเลย์”บนพื้นที่ 5 พันไร่ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร-เพิ่มมูลค่าผลิตผล-เสริมรายได้เกษตรกร

0
525

บพท.สานพลังพหุภาคี หนุนสร้างสระบุรีเป็นเมืองน่าอยู่แห่งอนาคต ภายใต้แนวคิด “สระบุรีฟู้ดวัลเลย์” แบบ Net Zero หวังปลุกสำนึกรักบ้านเกิด สร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเล็งเห็นคุณค่าความ สำคัญ บรรจุเป็นแผนยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของจังหวัด

นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย บริษัทสระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า แกนหลักที่เป็นหัวใจของโครงการวิจัยคือ การพัฒนาจังหวัดสระบุรีให้เป็นหุบเขาแห่งอาหาร หรือ “สระบุรีฟู้ดวัลเลย์” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับรายได้ของเกษตรกร ไปพร้อมๆกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศ
“แรงบันดาลใจในการทำวิจัยเรื่องนี้ มุ่งค้นหาคำตอบแก้โจทย์ของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของจังหวัด ที่ขายผลผลิตไม่ได้ราคา เพื่อทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม และมีความมั่นคงด้านรายได้ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกันของบริบททางภูมินิเวศน์ ภูมิสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่”

นายนพดล ชี้แจงว่า กระบวนการขึ้นรูปโครงการวิจัยสระบุรีพัฒนาเมืองที่มีแนวคิดสระบุรีฟู้ดวัลเลย์เป็นแกนกลาง เป็นผลพวงจากการพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกับหลายภาคีในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ประชาสังคม รวมทั้งนักวิชาการ จนได้ข้อสรุปร่วมกัน เนื่องจากจังหวัดสระบุรีมีจุดแข็งที่โดดเด่นถึง 3 ประการที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเมือง ตามแนวคิดสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ ได้แก่1). สระบุรีเป็นฮับโลจิสติกส์ เป็นศูนย์กลางขนส่งที่เชื่อมต่อโดยเฉพาะระบบราง 2). เกษตรกร ในจังหวัดสระบุรีมีผลผลิตทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ โคนม ไก่ ซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร และ3).จังหวัดสระบุรี มีศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่แก่งคอย มีองค์ความรู้ที่สามารถสร้างประโยชน์ในการยกระดับหรือสร้างนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตร
“กลไกกระบวนการพัฒนาแนวคิดสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ให้เป็นรูปธรรม จะดำเนินการโดยสร้างห่วงโซ่คุณค่าขึ้นมา ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก่งคอย กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมอยู่ในห่วงโซ่ โดยมุ่งเน้นให้ห่วงโซ่นี้เป็นห่วงโซ่ที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมอาหาร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Net Zero และเป็นห่วงโซ่ที่จะเหนี่ยวนำให้คนสระบุรีกลับมาร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน”

หัวหน้าโครงการวิจัย บริษัทสระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีให้ความสำคัญกับโครงการสระบุรีฟู้ดวัลเลย์อย่างมาก ถึงกับบรรจุเป็นแผนยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของจังหวัด ขณะเดียวกันภาคีภาคเอกชนทั้งหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ชมรมธนาคารในจังหวัด รวมทั้งเทศบาลเมืองสระบุรี เทศบาลเมืองแก่งคอย ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนโครงการ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นคือการทำข้อมูลศึกษาและวิจัยเพื่อหาว่าทิศทางหรือสิ่งที่จะทำในอนาคต ส่วนขั้นตอนที่สองคือรวบรวมกลุ่มคนที่มาเป็น Stakeholder คือ ผู้ประกอบการทางด้านอาหาร และกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะเป็น Smart Farmer ในอนาคต โดยสองกลุ่มนี้มีจำนวนรวมประมาณ 30 คน

“เงื่อนไขสำคัญที่เป็นปัจจัยความสำเร็จของสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ อยู่ที่การจัดหาพื้นที่ขนาดประมาณ 5,000 ไร่ ในทำเลที่สะดวกในการเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายคมนาคม และมีแหล่งน้ำสำรองที่เพียงพอสำหรับรองรับการเกิดขึ้นของสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและออกแบบระบบสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน”

นายนพดล กล่าวในที่สุดว่า ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ1).ความอยู่ดีกินดีของประชาชน 2).ความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบันของโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือ City Data Platform (CDP) 3).สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม 4).การศึกษาที่สอดคล้อง และเท่าทันกับบริบทสังคม และบริบทของโลกที่แปรเปลี่ยนไป