นักวิชาการไทย เผยโลกเข้าสู่วิกฤตอาหาร ย้ำไทยคือผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ เพื่อสร้างอาหารมั่นคง

0
1761

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ชี้ข้อมูลวิกฤตอาหารขาดแคลนทั่วโลกและไทย ร้องรัฐบาลควรสนับสนุนเกษตรกร สนับสนุนผู้ผลิตอาหาร หยุดซ้ำเติมจากปัญหาภัยแล้ง โควิด-19 และการออกกฏระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อภาคเกษตรกรรมและสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน

รายงาน The State of Food Security and Nutrition in the World ฉบับล่าสุดปี 2019 ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) กับสถาบันระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง พบว่า ประชากรโลกกว่า 820 ล้านรายอยู่ในภาวะหิวโหย ขาดสารอาหาร เป็นผลจากความขัดแย้งไร้เสถียรภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบต่อการเพาะปลูก กระทบต่อการกระจายอาหาร ภาวะโภชนาการของผู้คนจำนวนมาก สำหรับประเทศไทย มีจำนวนมากถึง 6.5 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 9.7 ของประชากรไทย โดยขาดแคลนอาหารมากถึง 5.4 ล้านราย และขาดสารอาหารอีก 1.1 ล้านราย จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านราย

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและท้าทายความสามารถของภาครัฐเพื่อความอยู่รอดของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา  กำลังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเป็นผลจากวิกฤตด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการลดความสำคัญของการผลิตพืชอาหาร ทำให้ราคาพืชอาหารสูงขึ้น อีกทั้งยังมาเจอกับการระบาดของโรคติดต่อ เช่น โควิด-19 จนทำให้ประชากรที่รายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้

ดังนั้น ทั่วโลกจึงได้แสวงหาแนวทางการพัฒนาเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม ให้สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอ ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพื่อประสิทธิผลการผลิต ได้แก่ การชลประทาน การใช้พืชพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง การใช้เครื่องจักรกล และการใช้ปัจจัยการผลิต มาช่วยในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้ในปริมาณมากพอต่อการบริโภค สำหรับปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน คือ สารเคมีเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา สารช่วยปกป้องผลผลิต สาช่วยการเจริญเติบโต ช่วยทนต่อสภาพแล้ง หรือน้ำท่วม ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารทั้งสิ้น

สำหรับการผลิตพืชผลการเกษตรในประเทศไทย ในระดับการผลิตแบบอุตสาหกรรมยังต้องมีการใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ แต่ดูเหมือนล่าสุดทางภาครัฐก็ยังเดินหน้าในการแบนสารเคมี สมาคมฯ ได้ออกมาให้ความเห็นหลายครั้งเรื่องการที่ภาครัฐจะยกเลิกการใช้สารพาราควอต ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความเสียหายและเพิ่มผลผลิตให้แก่ภาคเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก อีกทั้งยังจำเป็นในสภาวะที่ต้องหาปัจจัยการผลิตมาลดต้นทุนเกษตรกร จากข้อมูลล่าสุดยืนยันโดยกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีสารและวิธีการอื่นใดมาทดแทนพาราควอตได้ อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (US EPA : United States Environmental Protection Agency) และนักวิทยาศาสตร์องค์กรอิสระหลายแห่ง ได้ศึกษาเกี่ยวกับพาราควอตมานานกว่า 4 ทศวรรษ พบว่า ไม่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อตกลงสู่ดินจะถูกดินยึดจับไว้แน่น ไม่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ รากพืชไม่สามารถดูดซึมได้ ที่สำคัญมีรายงานฉบับใหม่ล่าสุดของ US EPA ที่เพิ่งสรุปออกมา ระบุว่า “พาราควอต” ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน ไม่มีความเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ และระบบการสืบพันธุ์

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังหาแนวทางสร้างความมั่นคงต่ออาหาร ด้วยการนำปัจจัยการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยสูงสุด การยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืช พาราควอต นับเป็นความเสี่ยงสูงของไทย ที่จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายหลายด้านต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน เกษตรกรไทยกำลังเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง หนี้สินเกษตรกร และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อภาคการผลิต การบริโภคในประเทศ การส่งออก และรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาแรงงานภาคการเกษตร หายากและค่าแรงสูง เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลได้ โดยกลุ่มพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหากเลิกใช้พาราควอต ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

“สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาและทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ประมาณการณ์ผลผลิตในพืชเศรษฐกิจอาจสูญหายสูง 97 ล้านตัน ทำให้รายได้เกษตรกรหายไปเป็นมูลค่าสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ส่งออกกระทบโดยตรง 41.46 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกระทบส่งออกตรงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรม ให้สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอมีความมั่นคงต่อการบริโภคของประชากรในประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นำรายได้เข้าสู่ประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลหันมาช่วยเหลือและสนับสนุนการผลิตภาคเกษตรอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และปกป้องสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทยด้วย เพราะอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และประเทศคู่ค้า และคู่แข่ง อาทิ อเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แคนาดา และญี่ปุ่น ยังใช้ พาราควอต เหมือนเกษตรกรไทย อย่าซ้ำเติมด้วยการทำลายโอกาสการแข่งขันในการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อนำรายได้เข้าประเทศเลย เพราะตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 1.8 พันล้านบาท เราสูญเสียมากแล้ว” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป