นักวิชาการแฉ! เอกสารชี้บริษัทยาสูบขวางกฎหมายยกเลิกห้องสูบบุหรี่ – CDC ยันควันพิษพุ่งสูง 23 เท่าในสนามบิน

0
20


วันที่ 10 ก.พ. 2568 รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ เปิดเผยถึงรายงานจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. ค.ศ. 2012 ที่พบว่า สนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ระดับฮับในสหรัฐอเมริกามีทั้งสิ้น 29 แห่ง ในจำนวนนี้มี 5 แห่ง ที่ยังมีห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบิน บาร์ หรือภัตตาคาร โดยตรวจพบระดับมลพิษในพื้นที่สูบบุหรี่สูงเป็น 23 เท่าของอากาศในสนามบินที่ห้ามสูบบุหรี่ทั้งหมด ขณะที่บริเวณรอบพื้นที่ห้องสูบบุหรี่ มีระดับมลพิษในอากาศสูงกว่าสนามบินที่ไม่มีห้องสูบบุหรี่ 5 เท่า สรุปได้ว่าการมีห้องสูบบุหรี่ภายในสนามบิน ไม่สามารถขจัดควันบุหรี่มือสอง ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เดินทางครอบครัวและพนักงานที่ทำงานในสนามบินได้
“รายงานยังระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ยังมีห้องสูบบุหรี่ในบางสนามบินในสหรัฐฯ มาจากผู้ผลิตยาสูบบางบริษัท สนับสนุนและลงทุนจ่ายให้มีห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน รวมทั้งต่อต้านการกำหนดให้ไม่มีห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบรายชื่อสนามบินปลอดบุหรี่ในสหรัฐฯ ล่าสุด พบว่าในจำนวนสนามบินทั้ง 5 แห่งดังกล่าว ปัจจุบันได้ยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบินไปแล้วถึง 4 แห่ง” รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว


รศ.ดร เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า สมาคมว่าด้วยระบบให้ความร้อน เครื่องทำความเย็นและระบบปรับอากาศ สหรัฐอเมริกา ASHRAE ( American Society of Heating Refrigerating and Air-conditioning Professional) ที่มีสมาชิกจากวิชาชีพนี้จากทั่วโลกกว่า 50,000 ราย ที่กำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของสิ่งแวดล้อมในอาคาร การประหยัดพลังงาน คุณภาพอากาศ ยืนยันว่าไม่มีวิธีการใด ๆ ที่จะขจัดควันบุหรี่มือสองในอาคาร นอกจากการห้ามสูบบุหรี่ในอาคารและบริเวณโดยรอบ ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิได้ยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของทุกคนที่เข้ามาในสนามบิน เป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว ไม่ควรที่จะกลับไปสร้างห้องสูบบุหรี่ใหม่”


ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า มีรายงานการวิจัยด้วยการศึกษาเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ ที่ได้รับการเปิดเผยโดยศาลในสหรัฐอเมริกา เพื่อหาหลักฐานการมีส่วนร่วมของอุสาหกรรมบุหรี่ในการขัดขวางการออกกฎหมายที่จะให้สนามบินแลมเบิร์ท รัฐเซ็นหลุยส์ สหรัฐฯ ยกเลิกห้องสูบบุหรี่ รวมทั้งประสิทธิภาพของห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ที่บริษัทบุหรี่สนับสนุนให้สร้างขึ้น ใน ค.ศ.1997-1998 พบว่าอุสาหกรรมบุหรี่ สนับสนุนให้สร้างห้องสูบบุหรี่ใน Terminal C แทนการที่จะออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ทั้งหมด
“โครงการวิจัยได้เก็บข้อมูลด้วยการใช้เครื่องวัดระดับนิโคตินในบริเวณใกล้เคียงกับห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน พบว่ามีระดับนิโคตินสูงกว่าในพื้นที่ที่ไม่มีการสูบบุหรี่ สะท้อนว่า ห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ทำให้คนที่ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้รับไอระเหยนิโคตินในควันบุหรี่มือสองในระดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังชี้ให้เห็นถึงความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการขัดขว้างกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสนามบิน 100%” ผศ.นพ.วิชช์ กล่าว

อ้างอิง https://www.researchgate.net/publication/7277860_Airport_smoking_rooms_don’t_work
อ้างอิง https://www.tobaccofreekids.org/blog/2012_11_21_airport
https://www.ashrae.org/about