ธ.ก.ส. เดินหน้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ให้กับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 ก.ย. 66 โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการกว่า 2 ล้านราย ทั่วประเทศ ประเดิมติดตามการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดบูธแนะนำบริการครบวงจร ทั้งการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” การประเมินศักยภาพในการสร้างรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ การจัดทำเอกสารต่อท้ายสัญญา รวมถึงการจัดมาตรการฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม พร้อมเตรียมตลาดรองรับในการจำหน่ายผลผลิต เพื่อสร้างรายได้และสามารถลดภาระหนี้ตามเป้าหมาย
วันนี้ (14 ตุลาคม 2566) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมพิธีรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 กันยายน 2566 โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 283,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน แอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567
โดยติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้ และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ หอประชุมเทศบาลตำบลสันมหาพล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้เปิดระบบการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่าน แอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 ปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 246,078 คน (ณ 12 ตุลาคม 2566)
ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและลูกค้ารายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการทำงานว่ามีจุดใดที่มีปัญหา เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การแจ้งความประสงค์ผ่านทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ซึ่งระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ การนัดหมาย เพื่อจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาและการเข้ารับการประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ก่อนเข้าร่วมมาตรการการดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ ธ.ก.ส. จึงดำเนินการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่”
โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? โดยเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการตลาด การปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นแบบทำน้อยได้มาก ทำผลผลิตให้มีคุณภาพสูงและสามารถจำหน่ายได้ในตลาดที่มีมูลค่าสูง วางแผนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภูมิปัญญา การสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ด้วยการปลูกพืชระยะสั้น พืชหลังนา สัตว์โตไว ที่มีมูลค่าสูง การให้บริการหรือสร้างรายได้จากกิจกรรมใหม่ ๆ การพัฒนาอาชีพเดิม โดยการเพิ่มผลผลิต ลดความสูญเสีย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมาตรฐาน และการเติมความรู้ทางการเงิน รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล โดยวางแผนในการบริหารเงินก่อนการตัดสินใจกู้เงิน รู้การออม การขับเคลื่อนโครงการแก้หนี้ แก้จน ภายใต้แนวทาง D&MBA : Design & Manage by Area พร้อมจัดหาตลาดให้กับลูกค้าผ่านบริษัทฯ เอกชนที่ต้องการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เพื่อนำไปแปรรูปสินค้าจำหน่ายยังผู้บริโภค ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรในระหว่างการพักชำระหนี้
โดยมีตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วมกับ ธ.ก.ส. เช่น บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ที่ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืน บริษัท ซันสวีท จำกัด สนับสนุนการปลูกข้าวโพดหวาน บริษัท เจียไต๋ จำกัด ที่ดำเนินโครงการพัฒนา Smart Farmer ต่อยอดความสำเร็จเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจผักดอยโอเค ที่รับซื้อผักอินทรีย์จากเกษตรกร เพื่อนำไปจำหน่ายยังผู้บริโภค ซึ่งมีเกษตรกรลูกค้าเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 500 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน