ธ.ก.ส. หนุนชุมชนไม้มีค่า สร้างรายได้จากการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

0
1394

 ธ.ก.ส. หนุนชุมชนไม้มีค่าเข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) โดยเติมองค์ความรู้ในการกักเก็บคาร์บอนเพื่อนำไปขาย สร้างผลตอบแทนจากการดูแลสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว  45 ชุมชน จำนวนต้นไม้กว่า 8 แสนต้น ช่วยดูดซับปริมาณคาร์บอน 279,000 ตันคาร์บอน และช่วยสร้างรายได้จากการกักเก็บคาร์บอนแล้วกว่า 1.8 ล้านบาท พร้อมจูงใจให้ชุมชนปลูกต้นไม้ด้วยการเติมทุนผ่านสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืน วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งส่งเสริมการพัฒนาชุมชนควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดปัญหาความแห้งแล้ง ป้องกันน้ำท่วมน้ำหลาก รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อมที่ดีของประเทศ  โดย ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เติมเต็มองค์ความรู้ให้ชุมชนเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าการกักเก็บคาร์บอน ตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) และมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับชุมชนที่ดำเนินการตามมาตรฐาน และแปลงมูลค่าการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้คืนสู่ชุมชน โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินให้ชุมชน ตันคาร์บอนละ 100 บาท ไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 45 ชุมชน จำนวนต้นไม้ 880,791 ต้น คิดเป็นปริมาณการกักเก็บคาร์บอน 279,644.732 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. มอบเงินสนับสนุน ไปแล้ว 1,860,800 บาท พร้อมตั้งเป้าหมายส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนไม้มีค่าเข้าร่วมโครงการ 77 ชุมชนภายในปี 2564 

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ อบก. ยังร่วมมือยกระดับชุมชนไม้มีค่าสู่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)  เพื่อต่อยอดสู่การขายคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีชุมชนที่ขึ้นทะเบียน T-VER เพื่อเตรียมพร้อมสู่ตลาดคาร์บอน จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ธนาคารต้นไม้บ้านลี่ และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งคาดว่าจะผลิตคาร์บอนเครดิตได้จำนวน 3,025 ตัว​คาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาโครงการ

นายธนารัตน์กล่าวอีกว่า เพื่อจูงใจให้เกษตรกรและชุมชนใช้พื้นที่ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างรายได้และออมผ่านการปลูกต้นไม้  ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนกิจกรรมการปลูกไม้มีค่าผ่านโครงการสินเชื่อ  รักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืน (Go Green : Forest Credit) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการขยายหรือสร้างอาชีพเสริม การปรับเปลี่ยนอาชีพ เพื่อสร้างรายได้จากการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพาะพันธุ์ไม้หรือเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย/ผลิตไม้ล้อม บริการจัดเตรียมพื้นที่ปลูก และบริการตัดสางต้นไม้ เป็นต้น วงเงินรวม 20,000  ล้านบาท โดยปัจจุบันมีเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สนใจใช้บริการสินเชื่อแล้วจำนวน 483 ราย เป็นเงิน 103 ล้านบาท.