ธ.ก.ส. ลงพื้นที่เสริมแกร่งเกษตรกรหัวขบวนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจผ่านโมเดล D&MBA การออกแบบ – การจัดการเชิงพื้นที่ เติมความรู้จัดสรรกระบวนการผลิต สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน เพิ่มศักยภาพในการผลิตด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า พร้อมเติมทุนขับเคลื่อนธุรกิจ เสริมสภาพคล่องเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน มุ่งต่อยอดการเชื่อมโยงธุรกิจสู่มาตรฐานการส่งออกระดับสากล
นายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาต้นทุนการผลิตอย่างปุ๋ยเคมีที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบในหลายมิติ ทั้งปริมาณผลผลิต การขนส่งและรายได้ที่ลดลง ธ.ก.ส. จึงต้องวางมาตรการและลงพื้นที่ดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร ทั้งด้านการฟื้นฟูลูกค้า เติมความรู้สร้างอาชีพ เพิ่มศักยภาพการชำระหนี้ลูกค้า เติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้โครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” ตามแนวทาง D&MBA : Design & Manage by Area
ซึ่งในวันนี้ ธ.ก.ส. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงามและวิสาหกิจฟรุทส์ฟาร์ม จังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมโครงการฯ และนำโมเดล D&MBA ไปปรับใช้ โดยเน้นการเชื่อมโยงเกษตรกรหัวขบวนในพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน
สำหรับวิสาหกิจกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม เกิดจากการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างธุรกิจในชุมชน โดยเริ่มจากการจัดหาเงินทุน จำหน่ายปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ราคาถูกให้แก่สมาชิก ที่ส่วนใหญ่ทำนาและผลิตข้าวหอมมะลิเป็นหลัก แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประสบปัญหาด้านการตลาด ทั้งการขนส่งและผู้รับซื้อ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรต่ำลงส่งผลกระทบไปยังรายได้ที่ลดลง ทำให้สมาชิกต้องหันมาเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริม มีการรวบรวมโคขุนเพื่อจำหน่ายไปยังตลาด และนำมูลวัวมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกในช่วงวิกฤต
โดยมีการทำ MOU ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุณฑริกสัตวแพทย์และกฤษฎาฟาร์ม จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่ง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุน ทั้งการเติมองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิต โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น เกษตรอำเภอและปศุสัตว์อำเภอ การทำบัญชีที่ถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวน 4,000,000 บาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิกและต่อยอดธุรกิจการจำหน่ายโคขุนให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงามยังดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดกิจกรรมปลูกป่า คัดแยก จัดเก็บขยะและนำของที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการลดมลพิษและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างยั่งยืน
นายสุภาษิต กล่าวต่อไปว่า ด้านวิสาหกิจฟรุทส์ฟาร์ม เริ่มประกอบธุรกิจตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการปลูกกล้วยหอมทองจำหน่ายไปยังร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ศูนย์การค้าโลตัส และส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นหัวขบวนหลักของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดยโสธร มีการรวมกลุ่มเกษตรกร สนับสนุนการนำนวัตกรรมและผลิตปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ในกระบวนการผลิตกล้วยหอมทอง
เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่ง ธ.ก.ส. เล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตและต่อยอดธุรกิจฟรุทส์ฟาร์มไปสู่การเชื่อมโยงทางธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเสริมความรู้ด้านกระบวนการผลิต การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การทำบัญชี การควบคุมคุณภาพผลผลิต การอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยกว่า 3,000,000 บาท ให้ฟรุทส์ฟาร์มสามารถต่อยอดและยกระดับธุรกิจการส่งออกสินค้าไปสู่สากล
จากที่กล่าวมา วิสาหกิจชุมชนทั้งสองแห่ง ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการดำเนินงานภายใต้โครงการการออกแบบ – การจัดการเชิงพื้นที่ ให้เกษตรกรสามารถก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ด้วยการกำหนดปัญหาโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงโอกาสและสิ่งที่คาดว่า จะเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล พัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในด้านการประกอบอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีศักยภาพในการชำระหนี้ที่เป็นภาระหนัก อันนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากโดยรวมของประเทศ