ธ.ก.ส. ร่วมมือกรมส่งเสริมการเกษตร และสยามคูโบต้า ขับเคลื่อนเกษตรวิถีใหม่ สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย

0
568

ธ.ก.ส. จับมือกรมส่งเสริมการเกษตร และสยามคูโบต้า ขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่เกษตรสมัยใหม่ เติมเต็ม องค์ความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกษตรกร เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ ต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า พร้อมจัดสินเชื่อ BCG วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้าน หนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อ เสริมแกร่ง SME เกษตร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยล้านละร้อย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างการเติบโตภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

วันนี้ (21 กันยายน 2566) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ โดยถ่ายทอดผลงานวิจัยและความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ให้มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประกอบอาชีพ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้และเสริมศักยภาพการแข่งขันและความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องโถง ชั้น 2 อาคารทาวเวอร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร และสยามคูโบต้า จะเดินหน้าในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและการเกษตร อาทิ ระบบและเครื่องจักรสำหรับจัดการฟาร์ม ระบบควบคุมสภาพแวดล้อม ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์การเกษตร และโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อยกระดับขีดความสามารถเกษตรกรไทยไปสู่ภาคการผลิตที่มีมาตรฐาน โดยสนับสนุนองค์ความรู้สมัยใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ทักษะที่จำเป็นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม บรรจุภัณฑ์และการดีไซน์ เพื่อต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมร่วมพัฒนาเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้ ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดการต่อยอดการดำเนินงาน ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางเป้าหมายความร่วมมือ 12 พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ได้แก่ แปลงใหญ่เห็ดนางฟ้า จังหวัดราชบุรี แปลงใหญ่สมุนไพร จังหวัดจันทบุรี แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดลพบุรี แปลงใหญ่อ้อย จังหวัดขอนแก่น แปลงใหญ่มันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา แปลงใหญ่ข้าวบ้าน พระแก้ว จังหวัดชัยนาท แปลงใหญ่สับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แปลงใหญ่ลำไย จังหวัดลำพูน แปลงใหญ่มะม่วง โชคอนันต์ จังหวัดสุโขทัย แปลงใหญ่ทุเรียน จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดชุมพร และแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จังหวัดพัทลุง

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อสนับสนุนการจัดหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการดินและน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูปและการบริหารจัดการช่องทางการตลาด ผ่านสินเชื่อ BCG Model วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) 2) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) และ 3) สินเชื่อสีเขียว (Green Credit)

สำหรับลูกค้าที่อยู่ในช่วงเริ่มโครงการและอยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐาน กรณีเป็นเกษตรกร บุคคล อัตราดอกเบี้ย MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975 ต่อปี) และนิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5.625) และในกรณีที่ลูกค้าได้รับการรับรองมาตรฐาน สำหรับเกษตรกรบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -1 ต่อปี และนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MLR – 0.5 ต่อปี สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อเสริมแกร่ง SME อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเกษตรกรรมและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปเพิ่มประสิทธิภาพการและผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มทำการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง การบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบเครือข่าย ศพก. เพื่อให้เกิดการทำงานในพื้นที่ร่วมกัน ทั้งการพัฒนาเกษตรกรที่เป็นผู้จัดการแปลง การส่งเสริมการปลูกพืชในพื้นที่ให้เหมาะสมตามหลัก Zoning การใช้พืชพันธุ์ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมขยายเครือข่ายการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้และการบำรุงรักษา โดยสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและระบบโรงเรือนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร พร้อมส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรของชุมชน ให้เกิดระบบ Sharing Economy ในท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ Application ในการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้ามีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยให้มีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและยังสนับสนุนนโยบายด้านการพัฒนาภาคการเกษตรกับภาครัฐมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา สยามคูโบต้าได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการทำเกษตรแม่นยำด้วยโซลูชันลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ให้แก่ Young Smart Farmer และได้ร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการสร้างโอกาสให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร

อย่างไรก็ตาม การลงนามในครั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร เตรียมบูรณาการร่วมกันเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายชุมชน โดยสยามคูโบต้าจะให้การส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคการเกษตร อาทิ การจัดการเกษตรกรรมครบวงจร หรือ KUBOTA (Agri) Solutions / ปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online โดรนการเกษตร ตลอดจนสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ได้แก่ KIN MATCH จ้างเครื่องจักรกลเกษตรพร้อมคนขับ KIN RENT บริการเช่าเครื่องจักรฯ การรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงการอบรม ให้ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรและการพัฒนาศักยภาพให้กับเกษตรกรผ่านการศึกษาดูงานที่คูโบต้าฟาร์ม และโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า SKCE ทั้งนี้ สยามคูโบต้าเชื่อว่า จะสามารถสร้างโอกาสสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของภาคการเกษตรในประเทศไทยให้เติบโต