ธ.ก.ส. มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จัด 3.5 หมื่นล้าน หนุนสินเชื่อ BCG เผยผลคะแนน ITA สะท้อนการดำเนินงานที่โปร่งใส

0
741

ธ.ก.ส. เดินหน้านโยบาย BCG Model สร้างความยั่งยืนภาคการเกษตร จัดสินเชื่อ 3 โครงการ วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้าน ผ่านสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) หนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การลดปริมาณของเสีย (Zero waste) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสร้างการเติบโตภาคเกษตรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมยังคงมาตรฐานการดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคว้า 96.45 คะแนน จากสำนักงาน ป.ป.ช.

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนภายใต้ BCG Model ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตของภาคเกษตรกรรมไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร บุคคล นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ผ่านสินเชื่อ BCG Model วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพิ่มศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต 2) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณของเสียให้เท่ากับศูนย์ (Zero waste)

โดยนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ 3) สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์หรือการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้โครงการสินเชื่อ BCG Model ตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถจูงใจให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร หันมาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระยะยาว ธ.ก.ส. กำหนดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าที่อยู่ในช่วงเริ่มโครงการและอยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐาน กรณีเป็นเกษตรกร บุคคล อัตราดอกเบี้ย MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975 ต่อปี) และนิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5.625) และในกรณีที่ลูกค้าได้รับการรับรองมาตรฐาน สำหรับเกษตรกร บุคคล จะคิดอัตราดอกเบี้ย MRR -1 ต่อปี และนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MLR – 0.5 ต่อปี

ทั้งนี้ กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน กำหนดชำระคืน ไม่เกิน 12 เดือน พิเศษ ไม่เกิน 18 เดือน กรณีกู้เพื่อลงทุน ชำระคืนภายใน 15 ปี และกรณีกู้เพื่อชำระหนี้สถาบันการเงินอื่น (Refinance) ชำระคืนภายใน 10 ปี พิเศษไม่เกิน 15 ปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2571 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ช.ม.

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับคะแนน 96.45 สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 1.12 คะแนน

แสดงถึงระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของธนาคาร และเป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการต่อต้านการทุจริต ธ.ก.ส. ขอขอบคุณเกษตรกรลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุน ซึ่ง ธ.ก.ส. ขอตั้งมั่นในคุณธรรมและพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนางานตามหลักคุณธรรมและความโปร่งใสเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป