ธ.ก.ส.จับมือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำผลงานวิจัยการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิตและการตลาดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร จนได้มาตรฐานรับรองระดับสากลไปแล้วกว่า 30 รายพร้อมตั้งเป้าขยายผลในการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ภาคเกษตรกรไทยต่อเนื่อง
วันนี้ (8 มิถุนายน 2565) ณ ห้องประชุม ชั้น 24 อาคารทาวเวอร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี” ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำผลงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนแก่ภาคเกษตรทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดที่เป็นมาตรฐานและต่อยอดสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ในการนำไปใช้ประโยชน์และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการในการพัฒนาสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่โดยนำผลงานวิจัยทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับปรุง พัฒนาการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างตรงจุด รวมถึงประยุกต์ต่อยอดสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดฝึกอบรม ประชุมวิชาการ การเผยแพร่ประสบการณ์และการร่วมประชาสัมพันธ์ของทั้งสองหน่วยงาน
เพื่อเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปี 2561-2564 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ร่วมมือกับวว.และ EXIM Bank เข้าไปเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ (SMEs) จำนวน 30 ราย อาทิ วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฏา ผลิตชา กาแฟ สบู่กาแฟ กาแฟคั่ว วิสาหกิจชุมชนลองเลย ผลิตกาแฟอาราบิก้า วิสาหกิจชุมชนออมสินกะลา ผลิตภัณฑ์จากกะลา บริษัท แบมบุรีฟอร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไผ่ และถ่านไม้ไผ่ บริษัทซันโฟรเช่น ฟรุ๊ต จำกัด ผลิตทุเรียนและมังคุด บริษัทบ้านขนมไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตขนมกล้วยหอมทองทอดกรอบ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี จึงวางเป้าหมายที่จะขยายแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคเกษตรไทย ควบคู่กับการเติมทุนผ่านสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสและการผลิตที่นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป
. ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่า วว.เปิดเผยว่า วว. เป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ที่มีความพร้อม ความเชี่ยวชาญในการบูรณาการงานด้านสารชีวภัณฑ์อย่างครบวงจร มีความพร้อมในการให้บริการแก่เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ ผู้ประกอบการ มีผลการศึกษาวิจัยระดับภูมิภาคและ ระดับประเทศ รวมถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
นอกจากนี้นักวิจัยและบุคลากรของ วว. ล้วนมีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มี ผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม โดยการร่วมมือในครั้งนี้ วว.มุ่งยกระดับเสริมสร้างความเข้มแข็งและต่อยอดยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป