ธ.ก.ส. ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สูงสุด 0.40%

0
660

ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สูงสุดร้อยละ 0.40 ต่อปี และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR ร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่ 15 ส.ค. 66 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับเกษตรกรรายย่อย เพื่อลดภาระและสนับสนุนการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ พร้อมวางแนวทางในการดูแลลูกค้าผ่านการบริหารจัดการหนี้ การให้คำปรึกษาทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการ มีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการเติมสินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง ในการลงทุน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2566 และเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาด ธ.ก.ส. จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ร้อยละ 0.10 – 0.40 ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ประกอบด้วย ลูกค้าทั่วไปที่มีบัญชีบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นร้อยละ 0.40 ต่อปี บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.30 ต่อปี และเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.15 ต่อปี สำหรับลูกค้านิติบุคคล ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นร้อยละ 0.15 ต่อปี และบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.10 ต่อปี

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ที่ร้อยละ 6.975 ต่อปี ต่อไป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า และสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและ โรคระบาดที่เกิดขึ้น โดย ธ.ก.ส. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉพาะ อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) ร้อยละ 0.250 ต่อปี จากร้อยละ 5.625 เป็นร้อยละ 5.875 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ร้อยละ 0.250 ต่อปี จากร้อยละ 6.875 เป็นร้อยละ 7.125 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บางประเภทตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด แต่ ธ.ก.ส. ยังคงให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 เป็นต้น พร้อมดูแลภาระหนี้สินเกษตรกรลูกค้า ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถยืนได้อย่างมั่นคงและสามารถก้าวข้ามกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน