ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว

0
1476

ธ.ก.ส. เปิดโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือก ฟรีดอกเบี้ย 5 เดือน และสินเชื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเก็บรักษาข้าวเปลือกและรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

    นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม และ 26 พฤศจิกายน 2563 ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนการจ่ายเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม คุ้มค่ากับการผลิต และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้วนั้น 

เพื่อเป็นการดูแลรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้ที่มั่นคง รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการภายใต้มาตรการคู่ขนานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยมีเป้าหมายการจ่ายสินเชื่อจำนวน 1.5    ล้านตันข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งข้าวเปลือกชนิดสีได้ต้นข้าวต่ำกว่า 20 กรัม ไม่รับเข้าร่วมโครงการ และข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5    (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 10,400 – 11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 8,900 – 9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุม 7,300 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน วงเงินรวม 15,284 ล้านบาท     โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 และภาคใต้ตั้งแต่เดือนมีนาคม – 31 กรกฎาคม 2564 กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย 

และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 เพื่อช่วยให้สถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการช่วยดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในตลาด โดยรวบรวมและรับซื้อข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป นำมาเก็บรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรอการขายหรือนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะได้รับวงเงินกู้ตามศักยภาพ แผนธุรกิจ และไม่เกินวงเงินที่นายทะเบียนกำหนด ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2564 กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ตามรอบธุรกิจแต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564  ซึ่งเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา  ทั่วประเทศ หรือโทร Call Center 02 555 0555