ธ.ก.ส. ชูโมเดล D&MBA ลุยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน จังหวัดเชียงราย สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน

0
587

ธ.ก.ส. ลุยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกร ชูเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้าน ทุ่งต้อม จังหวัดเชียงราย นำร่องใช้โมเดล D&MBA ออกแบบการบริหารจัดการหนี้โดยคนในชุมชน หนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร มุ่งยกระดับการผลิต ด้วยการปรับวิถีเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model เติมความรู้พัฒนา Smart Farmer สู่การเป็นเกษตรหัวขบวน พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพและสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อันนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในชุมชนอย่างยั่งยืน


วันนี้ (10 มีนาคม 2566) นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่แรกเริ่มมีการรวมกลุ่มผู้นำเกษตรกรในชุมชน ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการเลี้ยงและขยายพันธุ์หมูดำ สายพันธุ์เหมยซาน ที่สามารถจำหน่ายได้ราคาดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ต่อมาผู้นำกลุ่มมีความคิดในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ จึงมีการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และประสานงานหน่วยงานในพื้นที่ในการเติมความรู้ ด้านการผลิตและเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model โดยเริ่มจากกิจกรรมทางการเกษตรที่ชุมชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การปลูกข้าว เลี้ยงปลานิลและกบนา มีการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์ โดยใช้ของเหลือจากการผลิตอื่น ๆ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เช่น การนำรำข้าวจากการสีข้าวมาผสมก้างปลานิลตากแห้งและ ใบหม่อน ผลิตเป็นอาหารของหมูดำ และการนำมูลวัวและมูลสุกรดำมาเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงการแปรรูปผลผลิต เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้า เช่น การนำเกล็ดปลานิลอินทรีย์มาแปรรูปเป็นเกล็ดปลาทอดกรอบจำหน่าย การทอผ้าพื้นเมืองแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น

ซึ่งทางเครือข่ายฯ ใช้แนวคิดเรื่อง มั่นคง มั่งคั่ง เป็นเสาเข็มหลักในการบริหารงาน โดยมุ่งเน้นความสุขและความพึงพอใจของสมาชิก ผ่านหลัก 6 ใจ ได้แก่ สานพลังใจ เชื่อใจ ไว้วางใจ จริงใจ ได้ใจ และมั่นใจ และยึดหลักการตลาดนำการผลิต มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตทำให้มีเงินทุนในการหมุนเวียนในระบบการผลิตกว่า 1,000,000 บาท ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเดือนละกว่า 10,000 บาท และในปัจจุบันเครือข่ายฯ มีสมาชิกกว่า 1,013 คน และมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 ประเภทและผลิตภัณฑ์แปรรูปกว่า 35 รายการ เช่น ข้าวเหนียวเคลือบสมุนไพร 7 วัน ข้าวหอมมะลิเคลือบสมุนไพร เนื้อหมูดำออร์แกนิก แคบหมู ปลานิลตัดแต่ง และ กบถอดเสื้อ เป็นต้น
ในด้านการจัดการทางการตลาด เครือข่ายฯ จำหน่ายผลผลิตออนไลน์เป็นช่องทางหลักผ่าน Facebook page: ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์ และส่งจำหน่ายตลาด modern trade ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และร้านอาหารในจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์เครือข่ายด้านการประมง และชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจรของจังหวัดเชียงรายที่เปิดโอกาสให้หน่วยงาน เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้อีกด้วย

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม ถือเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำโมเดล Design & Manage by Area (D&MBA) หรือโครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ของ ธ.ก.ส. ไปปรับใช้ เนื่องจากใน ช่วงสถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจชะลอตัวที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างมาก ธ.ก.ส. ร่วมกับผู้นำเครือข่ายฯ ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับคนในชุมชน ควบคู่กับมาตรการที่ ธ.ก.ส. เข้าไปดูแล เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายบุคคล การสร้างวินัยด้านการเงินและสร้างการ มีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน และสนับสนุนการเติมองค์ความรู้ ด้านกระบวนการผลิต การ แปรรูป และการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model เพื่อพัฒนาเกษตรกรไปสู่ Smart Farmer รวมถึงการเชื่อมโยงเกษตรกรหัวขบวนในพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ โดย ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องและการลงทุนเกษตรกร อันนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชนอย่างยั่งยืน