ธ.ก.ส. คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566

0
581

ธ.ก.ส. คว้ารองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า พร้อมผนึกกำลัง 6,800 ชุมชน ขับเคลื่อนการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน กรุงเทพฯ นายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมพิธีรับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 (National Innovation Awards 2023) จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ซึ่งเป็นรางวัลนวัตกรรม อันทรงเกียรติสูงสุดของประเทศไทยที่มอบให้กับองค์กรที่มีการบริหารจัดการโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดคุณค่าทั้งในเชิงธุรกิจและเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย ธ.ก.ส. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อยจากโครงการธนาคารต้นไม้ ที่มีจุดประสงค์เพื่อการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) พร้อมยกระดับชุมชนธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่ากว่า 6,800 ชุมชน ไปสู่การขับเคลื่อนภารกิจซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและพัฒนา ภาคเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

นายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีการพัฒนาและยกระดับไปสู่โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่าจำนวนกว่า 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายในการประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 760 ล้านบาท และเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนภารกิจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน ธ.ก.ส.

จึงร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเตรียมนำร่องโครงการที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน สร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายที่จะขยายการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า รวมถึงขยายผลไปยังกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เป็นต้น